01 April 2025

1 วันที่ผ่านมา

สรุปผลการประชุมคณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ครั้งที่ 33 ประจำฤดูกาล 2567/68

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท จัดประชุม ครั้งที่ 33 ประจำฤดูกาล 2567/68 โดยมี นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ เป็นประธาน

พิจารณาการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน

1. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการไทยลีก 3 วันที่ 23 มีนาคม 2568 คู่ระหว่างสโมสร อัสสัมชัญ ยูไนเต็ด พบ สโมสร หัวหิน มาราเลน่า เอฟซี (คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ส่งเรื่องให้คณะประเมินการปฏิบัติหน้าที่ผู้ตัดสิน)  

- เหตุการณ์
ในนาทีที่ 12 ขณะที่ผู้เล่นหมายเลข 7 นายพิชญุตม์ ไชโยแสง สโมสร หัวหิน มาราเลน่า เอฟซี พยายามเข้าเล่นที่ลูกบอล ผู้เล่นหมายเลข 3 นายวรวิช วันวอน สโมสร อัสสัมชัญ ยูไนเต็ด ได้เข้ามาบังการเล่นและใช้ข้อศอกซ้ายกระแทกเข้าที่บริเวณใบหน้าของผู้เล่นหมายเลข 7 นายพิชญุตม์ ไชโยแสง สโมสร หัวหิน มาราเลน่า เอฟซี จนลงไปนอนล้มลงกับพื้น แต่ผู้ตัดสินไม่ได้มีการเป่าฟาล์ว และไม่ได้ลงโทษทางวินัยกับผู้เล่นคนดังกล่าวแต่อย่างใด 

- ผลพิจารณาโทษ
1) ลงโทษนายตะวัน สุริยาวงค์ ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 3 สัปดาห์ เนื่องจากผู้เล่นหมายเลข 3 นายวรวิช วันวอน สโมสร อัสสัมชัญ ยูไนเต็ด เจตนาชักศอกไปที่บริเวณใบหน้าของผู้เล่นหมายเลข 7 นายพิชญุตม์ ไชโยแสง สโมสร หัวหิน มาราเลน่า เอฟซี ถือเป็นการเจตนาทำร้ายฝ่ายตรงข้าม เป็นการประพฤติผิดอย่างร้ายแรง (Violent Conduct) ผู้ที่กระทำผิดจะต้องถูกไล่ออก (ใบแดง) ตามกติกาข้อ 12 Fouls and Misconduct หน้า 113-115 

2) ลงโทษนายวินัย เรียงวงษ์ ผู้ตัดสินที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 3 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นกรณีมีความผิดที่ต้องลงโทษด้วยใบแดงในพื้นที่รับผิดชอบ เห็นเหตุการณ์แต่ไม่แจ้งผู้ตัดสิน

2. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการไทยลีก 3 วันที่ 23 มีนาคม 2568 คู่ระหว่างสโมสร สมุทรสงคราม ซิตี้ พบ สโมสรนนทบุรี ยูไนเต็ด (สโมสรนนทบุรี ยูไนเต็ด ร้องเรียนมา 1 เหตุการณ์) 

- เหตุการณ์
ในนาทีที่ 66 ผู้รักษาประตูหมายเลข 50 นายนทีธาร อันรื่นเริง สโมสร สมุทรสงคราม ซิตี้ ได้พยายามเข้ามาแย่งชิงบอล แต่ถึงบอลช้ากว่าทำให้ไปขัดขวางการเล่นของผู้เล่นหมายเลข 24 นายวรเศรษฐ์ สายจันทร์ สโมสร นนทบุรี ยูไนเต็ด จนล้มลงในเขตโทษ แต่ผู้ตัดสินไม่ได้มีการเป่าฟาล์ว ทำให้สโมสร นนทบุรี ยูไนเต็ด ไม่ได้จุดโทษ

- ผลพิจารณาโทษ
1) ลงโทษนายนัสรีย์ ตามาต ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 6 สัปดาห์ เนื่องจากขณะที่ผู้เล่นหมายเลข 24 นายวรเศรษฐ์ สายจันทร์ สโมสร นนทบุรี ยูไนเต็ด เตะลูกบอลออกไปแล้ว ได้ถูกผู้รักษาประตูของสโมสร สมุทรสงคราม ซิตี้ ใช้มือรวบดึงที่บริเวณขาทำให้เสียหลักล้มลง เป็นการกระทำผิดตามกติกาข้อ 12 Fouls and Misconduct หน้า 105 ที่ต้องให้เตะโทษโดยตรง แต่เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นในเขตโทษ จึงควรให้เตะโทษ ณ จุดโทษ

2) ลงโทษนายสมศักดิ์ ถาวรธิรา ผู้ประเมินผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 1 สัปดาห์ เนื่องจากไม่เขียนรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวกับการเป็นลูกโทษ/ไม่ลูกโทษ 

3. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการไทยลีก 3 วันที่ 23 มีนาคม 2568 คู่ระหว่างสโมสร สมุทรสาคร ซิตี้ พบ สโมสร ธนบุรี ยูไนเต็ด (สโมสร ธนบุรี ยูไนเต็ด ร้องเรียนมา 2 เหตุการณ์) 

- เหตุการณ์ที่ 1
ในนาทีที่ 45+3 ผู้เล่นหมายเลข 65 นายวรายุทธ กล่อมนาค สโมสร สมุทรสาคร ซิตี้ ได้ยิงลูกบอลไปชนคานประตูและลูกบอลไปโดนตัวผู้รักษาประตูหมายเลข 43 นายภัทรพงษ์ เพ็ชรจรูญ สโมสร ธนบุรี ยูไนเต็ด โดยที่วิถีลูกบอลกำลังจะเข้าประตูนั้น ทางสโมสรธนบุรี ยูไนเต็ด มองว่าผู้รักษาประตูคนดังกล่าวได้จับลูกบอลอยู่ที่เส้นประตูและลูกบอลยังไม่ข้ามเส้นประตู แต่ทางผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 2 ได้ยกธงแจ้งกับผู้ตัดสินว่า ลูกบอลข้ามเส้นประตูไปแล้ว ทำให้สโมสร ธนบุรี ยูไนเต็ด เสียประตูจากจังหวะดังกล่าว 

- ผลพิจารณาโทษ
ยกคำร้อง เนื่องจากคลิปภาพเหตุการณ์ไม่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่าลูกบอลเข้าประตูหรือยังไม่เข้าประตู จึงไม่สามารถพิจารณาตามข้อเท็จจริงได้

- เหตุการณ์ที่ 2
ในนาทีที่ 50 ผู้เล่นหมายเลข 17 นายจัตุรงค์ หลงศรีภูมิ สโมสร ธนบุรี ยูไนเต็ด สามารถทำประตูเข้าไป แต่ผู้ตัดสินไม่ให้เป็นประตู เนื่องจากเห็นว่าผู้เล่นหมายเลข 4 นายกิตติพงษ์ แสนพงษ์ สโมสร ธนบุรี ยูไนเต็ด ได้ไปทำฟาล์วใส่ผู้เล่นหมายเลข 33 Mr. THIAGO DUCHATSCH MOREIRA สโมสร สมุทรสาคร ซิตี้ เสียก่อน  

- ผลพิจารณาโทษ
1) ลงโทษนายสราวุธ สุขสาลี ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 6 สัปดาห์ เนื่องจากขณะมีการกระโดดโหม่งเพื่อแย่งชิงลูกบอลผู้เล่นหมายเลข 4 นายกิตติพงษ์ แสนพงษ์ สโมสร ธนบุรี ยูไนเต็ด ไม่ได้มีการผลักผู้เล่นหมายเลข 33 Mr. THIAGO DUCHATSCH MOREIRA สโมสร สมุทรสาคร ซิตี้ ตามที่ผู้ตัดสินให้ข้อมูลแต่อย่างใด ถือว่าผู้ตัดสินตัดสินไม่ถูกต้อง 

2) ลงโทษนายสุชาติ เย็นเพ็ชร ผู้ประเมินผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 1 สัปดาห์ เนื่องจากไม่เขียนรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวกับการเป็นประตู/ไม่เป็นประตู 

พิจารณาเหตุการณ์ไม่ปกติของการแข่งขันกีฬาฟุตบอล

4. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการรีโว่ ไทยลีก (ไทยลีก 1) วันที่ 26 มีนาคม 2568 คู่ระหว่างสโมสร ลำพูน วอริเออร์ พบ สโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

- เหตุการณ์
ในนาทีที่ 90 กองเชียร์สโมสร ลำพูน วอริเออร์ ที่อยู่บนอัฒจันทร์หลักฝั่งขวามือ บนพื้นที่ด้านหลังที่นั่งสำรองของสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ได้มีการขว้างปาขวดน้ำดื่มจำนวน 2-3 ขวด ลงมาในบริเวณพื้นที่เขตเทคนิคที่นั่งสำรองของสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ระยะห่างประมาณ 2 เมตร แต่ไม่โดนผู้ใด ทำให้ผู้ตัดสินหยุดเกมไป 2 นาที จากนั้นผู้ตัดสินดูสถานการณ์และเข้าสู่สถานการณ์ปกติจึงได้เป่าเริ่มเกมและแข่งขันจนจบการแข่งขัน สาเหตุที่กองเชียร์สโมสร ลำพูน วอริเออร์ ไม่พอใจ เนื่องมาจากการเสียลูกจุดโทษในช่วงเวลานั้น

- ผลพิจารณาโทษ
1) ลงโทษกองเชียร์สโมสร ลำพูน วอริเออร์ ขว้างปาสิ่งของเข้าไปในสนาม มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 4.4 ปรับเงิน 40,000 บาท 

2) ลงโทษสโมสร ลำพูน วอริเออร์ บกพร่องในการตรวจเช็คหรือควบคุมไม่ให้กองเชียร์นำขวดน้ำเข้าไปในสถานที่จัดการแข่งขัน มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 5.3.18 (1) ปรับเงิน 40,000 บาท

- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
ข้อ 4.4 กองเชียร์ทีมใด หรือกลุ่มบุคคลใด หรือบุคคลใด ขว้างปาหรือกระทำด้วยประการใด ให้วัสดุหรือสิ่งของอื่นใด เข้าไปในสนามก็ดี หรือกระทำต่อนักกีฬาฟุตบอล หรือเจ้าหน้าที่ทีม หรือกองเชียร์ทีมคู่แข่งขัน หรือเจ้าหน้าที่การแข่งขันก็ดี องค์กรสมาชิกต้นสังกัดของกองเชียร์ที่เป็นผู้กระทำ และ/หรือ องค์กรสมาชิกที่เป็นทีมเหย้าที่ปล่อยให้มีการกระทำดังกล่าวต้องรับโทษ จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 30,000 บาท ถึง 60,000 บาท

 ข้อ 5.3.18 ความบกพร่องด้านการรักษาความปลอดภัยในวันแข่งขัน
(1) บกพร่องในการตรวจเช็คหรือควบคุมไม่ให้กองเชียร์หรือบุคคลใด นำขวดน้ำ พลุ ประทัดดอกไม้ไฟ หรือวัสดุที่สามารถนำไปใช้ในการทำร้ายกันได้ เข้าไปในสถานที่จัดการแข่งขัน หรืออัฒจันทร์ จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 30,000 บาท ถึง 50,000 บาท

5. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการรีโว่ ไทยลีก (ไทยลีก 1) วันที่ 29 มีนาคม 2568 คู่ระหว่างสโมสร หนองบัว พิชญ เอฟซี พบ สโมสร สุโขทัย เอฟซี

- เหตุการณ์
ในนาทีที่ 90+5 มีกองเชียร์ของสโมส รหนองบัว พิชญ เอฟซี บนอัฒจันทร์มีหลังคา ได้ขว้างรองเท้าแตะ 1 ข้าง ลงไปที่บริเวณเขตเทคนิคของสโมสร สุโขทัย เอฟซี แต่ไม่ถูกผู้ใดเป็นอันตราย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้วิ่งไล่ไปจนตำรวจดักจับได้ที่ชั้นล่าง แล้วจะดำเนินการต่อไป โดยในการแข่งขันนัดนี้ ได้รับแจ้งจาก GC และผู้จัดการสนาม ว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 10 นาย และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 50 คน จำนวนผู้เข้าชม 1,424 คน 

- ผลพิจารณาโทษ
1) ลงโทษกองเชียร์สโมสร หนองบัว พิชญ เอฟซี ขว้างปาสิ่งของเข้าไปในสนาม มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 4.4 ปรับเงิน 40,000 บาท 

2) ลงโทษสโมสร หนองบัว พิชญ เอฟซี บกพร่องในระบบงานรักษาความปลอดภัยที่กำหนดไว้ในระเบียบ มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 5.3.18 (3) ปรับเงิน 20,000 บาท 

- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
ข้อ 4.4 กองเชียร์ทีมใด หรือกลุ่มบุคคลใด หรือบุคคลใด ขว้างปาหรือกระทำด้วยประการใด ให้วัสดุหรือสิ่งของอื่นใด เข้าไปในสนามก็ดี หรือกระทำต่อนักกีฬาฟุตบอล หรือเจ้าหน้าที่ทีม หรือกองเชียร์ทีมคู่แข่งขัน หรือเจ้าหน้าที่การแข่งขันก็ดี องค์กรสมาชิกต้นสังกัดของกองเชียร์ที่เป็นผู้กระทำ และ/หรือ องค์กรสมาชิกที่เป็นทีมเหย้าที่ปล่อยให้มีการกระทำดังกล่าวต้องรับโทษ จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 30,000 บาท ถึง 60,000 บาท

ข้อ 5.3.18 ความบกพร่องด้านการรักษาความปลอดภัยในวันแข่งขัน
(3) หากองค์กรสมาชิกที่เป็นทีมเหย้า มีข้อบกพร่องในระบบงานรักษาความปลอดภัย ที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการจัดการแข่งขัน ในแต่ละรายการแข่งขัน จะถูกลงโทษปรับเงินตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท และ/หรือ ห้ามจัดการแข่งขันในฐานะทีมเหย้า 1 นัดเป็นอย่างน้อย จนกว่าจะแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นให้ผ่านการรับรองจากฝ่ายจัดการแข่งขัน

6. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการเมืองไทย ลีก (ไทยลีก 2) วันที่ 28 มีนาคม 2568 คู่ระหว่างสโมสร จันทบุรี เอฟซี พบ สโมสร แพร่ ยูไนเต็ด

- เหตุการณ์
ในนาทีที่ 90+3 กองเชียร์สโมสร จันทบุรี เอฟซี (ทีมเหย้า) ที่นั่งอยู่ในอัฒจันทร์ฝั่งตรงข้ามประธาน (โซน E1) ได้ตะโกนด่าผู้ตัดสินโดยพร้อมเพรียงกันด้วยคำหยาบคาย เนื่องจากไม่พอใจที่ผู้ตัดสินไม่ได้ให้ใบแดงผู้เล่นทีมเยือนหมายเลข 27 ซึ่งเป็นผู้เล่นฝ่ายรับคนสุดท้าย ได้ทำแฮนด์บอลบริเวณหน้ากรอบเขตโทษของทีมเยือน โดยที่มีผู้เล่นทีมเหย้าหมายเลข 10 กำลังรอรับบอลเพื่อลุ้นทำประตูอยู่ โดยที่หากบอลหลุดไปถึงผู้เล่นทีมเหย้าหมายเลข 10 ผู้เล่นคนดังกล่าวมีโอกาสสูงที่จะได้หลุดไปดวลเดี่ยวกับผู้รักษาประตูทีมเยือน หลังจากนั้นในนาทีที่ 90+5 VAR ได้เรียกผู้ตัดสินให้มาทำการ On-Field Review จังหวะที่ผู้เล่นทีมเยือนหมายเลข 27 ทำแฮนด์บอล หลังจากผู้ตัดสินได้ทำการ OFR แล้ว ผู้ตัดสินจึงให้ใบแดงแก่ผู้เล่นทีมเยือนหมายเลข 27 ด้วยเหตุผล DOGSO

- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษกองเชียร์สโมสร จันทบุรี เอฟซี ด่าด้วยถ้อยคำหยาบคายโดยพร้อมเพรียงกัน มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 4.1 วรรคสอง ปรับเงิน 30,000 บาท แต่เนื่องจากเป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 2 จึงลงโทษปรับสองในสาม ปรับเงิน 20,000 บาท

- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
ข้อ 4.1 ด่าบุคคลใด ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย หรือเยาะเย้ย ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือแสดงกิริยาก้าวร้าว ข่มขู่ เช่น การเหยียดผิวหรือเชื้อชาติบุคคลใดด้วยพฤติกรรมที่ชัดแจ้ง ทั้งภาษากาย จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 30,000 บาท 

หากการกระทำผิดตามวรรคแรก กระทำโดยบุคคลหลายคนโดยพร้อมเพรียงกัน จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 40,000 บาท  

หากเป็นการกระทำโดยผ่านเครื่องโทรโข่ง หรือเครื่องขยายเสียงประกอบการเชียร์ หรือถ่ายทอดสดผ่านทางสื่อออนไลน์ ปรับเงินตั้งแต่ 30,000 บาท ถึง 50,000 บาท และห้ามนำอุปกรณ์ดังกล่าวเข้าสถานที่จัดการแข่งขัน 1 ถึง 4 นัด

7. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการไทยลีก 3 วันที่ 23 มีนาคม 2568 คู่ระหว่างสโมสร อัสสัมชัญ ยูไนเต็ด พบ สโมสร หัวหิน มาราเลน่า เอฟซี 

- เหตุการณ์
นาทีที่ 12 ขณะที่ผู้เล่นหมายเลข 7 นายพิชญุตม์ ไชโยแสง สโมสร หัวหิน มาราเลน่า เอฟซี พยายามเข้าเล่นบอล ผู้เล่นหมายเลข 3 นายวรวิช วันวอน สโมสร อัสสัมชัญ ยูไนเต็ด ได้เข้ามาบังการเล่นและเจตนาใช้ข้อศอกซ้ายกระแทกเข้าที่ใบหน้าของผู้เล่นหมายเลข 7 นายพิชญุตม์ ไชโยแสง สโมสร หัวหิน มาราเลน่า เอฟซี หลังจากนั้น ผู้เล่นหมายเลข 7 นายพิชญุตม์ ไชโยแสง สโมสร หัวหิน มาราเลน่า เอฟซี ได้ล้มลงไปนอนกับพื้นพร้อมใช้มือกุมที่ใบหน้า ต่อมาเป็นจังหวะที่เกมหยุดเนื่องจากลูกออกนอกสนามแข่งขัน ผู้ตัดสินจึงเรียกเจ้าหน้าที่ทีมของสโมสร หัวหิน มาราเลน่า เอฟซี เข้ามาดูอาการบาดเจ็บ พบว่าผู้เล่นหมายเลข 7 นายพิชญุตม์ ไชโยแสง สโมสร หัวหิน มาราเลน่า เอฟซี ไม่ได้รับบาดเจ็บมากและสามารถลุกขึ้นมาเล่นต่อได้ (ในเหตุการณ์นี้ผู้ตัดสินไม่ได้คาดโทษใบเหลือง หรือลงโทษให้ใบแดง)

- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษผู้เล่นเบอร์ 3 นายวรวิช วันวอน สโมสร อัสสัมชัญ ยูไนเต็ด เจตนาทำร้ายร่างกายผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ มีความผิดตามระเบียบฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 1.12 (1) ถูกพักการแข่งขันและห้ามเข้าสนาม 3 นัด และปรับเงิน 40,000 บาท  แต่เนื่องจากเป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 3 จึงลงโทษปรับหนึ่งในสี่ ปรับเงิน 10,000 บาท

- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ

 ข้อ 1.12 ทำร้ายร่างกาย บุคคลใด แต่ละกรณีมีโทษดังนี้ 

(1) ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้ถูกทำร้าย ถูกพักการแข่งขันและห้ามเข้าสนาม 1 ถึง 3 นัด และปรับเงินตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 40,000 บาท

8. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการไทยลีก 3 วันที่ 29 มีนาคม 2568 คู่ระหว่างสโมสร ทหารบก เอฟซี พบ สโมสร สมุทรสงคราม ซิตี้ 

- เหตุการณ์
ชุดการแข่งขันของผู้เล่นสโมสร สมุทรสงคราม ซิตี้ ไม่มีตราสัญลักษณ์การแข่งขันรายการไทยลีก 3 จำนวน 7 คน หลังจากการประชุมผู้จัดการทีมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ควบคุมการแข่งขันได้เข้าตรวจสอบ AD Card และอุปกรณ์นักฟุตบอลในห้องพักนักกีฬาทีมเหย้าและทีมเยือน จากการตรวจสอบทั้งสองทีมพบว่ามีผู้เล่นของทีมเยือนสโมสร สมุทรสงคราม ซิตี้ บางคนไม่มีตราสัญลักษณ์การแข่งขันรายการไทยลีก 3 ซึ่งจะติดบริเวณแขนเสื้อด้านขวา จึงได้แจ้งให้นายรุ่งโรจน์ ทองถิ่นภู ตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนสโมสร สมุทรสงคราม ซิตี้ ได้ทราบว่ามีนักกีฬาไม่ติดตราสัญลักษณ์การแข่งขันไทยลีก 3 จำนวน 7 คน (ผู้เล่นตัวจริง 4 คน, ผู้เล่นสำรอง 3 คน) ผู้เล่นตัวจริง ประกอบด้วย 1) หมายเลข 12 เตชากร ขุนเที่ยงธรรม, 2) หมายเลข 13 พิชชากร จันทร์เจียม, 3) หมายเลข 14 บุณยชาติ เกาะกลาง และ 4) หมายเลข 47 LEONARDO PIMENTEL FERREIRA ผู้เล่นสำรอง ประกอบด้วย 5) หมายเลข 31 คริสต์ชา นาวิโอ, 6) หมายเลข 45 จารุกิตติ์ โนคอน (เปลี่ยนตัวลงเล่นนาทีที่ 81) และ 7) หมายเลข 46 วรพล ต่างทอง ต่อมาผู้ควบคุมการแข่งขันได้แจ้ง นายรุ่งโรจน์ ทองถิ่นภู ให้ดำเนินการแก้ไข และแจ้งเหตุผลการไม่ติดตราสัญลักษณ์การแข่งขัน แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ หลังจากนั้นนายรุ่งโรจน์ ทองถิ่นภู ได้เข้ามาแจ้งแก่ผู้ควบคุมการแข่งขันว่า เหตุผลที่ผู้เล่นดังรายชื่อข้างต้นที่ไม่มีตราสัญลักษณ์การแข่งขัน เนื่องจากในสัปดาห์ก่อนได้ทำการแข่งขันเป็นทีมเหย้า และหลังจากการแข่งขันนักกีฬาได้โยนเสื้อให้กับผู้ชมที่เข้ามาเชียร์การแข่งขัน โดยไม่ได้แจ้งให้ทราบ และนำเอาเสื้อตัวใหม่ที่ไม่ได้ติดตราสัญลักษณ์การแข่งขันมาใส่ 

- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษสโมสร สมุทรสงคราม ซิตี้ ชุดนักกีฬาไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของระเบียบข้อบังคับฯ มีความผิดตามระเบียบฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 3.1 ปรับเงิน 10,000 บาท  แต่เนื่องจากเป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 3 จึงลงโทษปรับหนึ่งในสี่ ปรับเงิน 2,500 บาท 

- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
ข้อ 3.1 ทีมใดจัดชุดสำหรับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทีม ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการจัดการแข่งขัน ในแต่ละรายการแข่งขัน จะถูกปรับเงินครั้งละตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 20,000 บาท  

เว้นแต่กรณีมีเหตุสุดวิสัยตามสมควรเกิดขึ้นในวันแข่งขัน ผู้ประเมินผู้ตัดสินที่ทำหน้าที่คู่นั้น ๆ หรือผู้ควบคุมการแข่งขัน อาจใช้ดุลพินิจให้เปลี่ยนแปลงตามสมควรเพื่อให้การแข่งขันดำเนินต่อไปได้ แต่หากไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ต้องรับผิด และแต่ละครั้งต้องชดใช้ค่าเสียหาย หากฝ่ายสิทธิประโยชน์เรียกร้องมา จากกรณีที่ไม่มีเครื่องหมายของผู้สนับสนุนการแข่งขันติดที่แขนเสื้อด้านขวา

9. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 3 วันที่ 29 มีนาคม 2568 คู่ระหว่างสโมสร นรา ยูไนเต็ด พบ สโมสร เมืองตรัง ยูไนเต็ด 

- เหตุการณ์
ในช่วงนาที่ที่ 33 หลังจากสโมสร เมืองตรัง ยูไนเต็ด ได้ประตูขึ้นนำได้มีกองเชียร์สโมสร นรา ยูไนเต็ด ฝั่งอัฒจันทร์มีหลังคาด้านขวามือของที่นั่งประธาน กองเชียร์ นรา ยูไนเต็ด ได้จุดประทัด จำนวน 1 นัด เสียงดังทั่วบริเวณสนามและบนอัฒจันทร์มีหลังคา เสียงดังชัดเจนจนได้ยินกันหลายคน กองเชียร์จุดประทัดครั้งนี้ คิดว่าน่าจะไม่พอใจที่สโมสร นรา ยูไนเต็ด ได้เสียประตู แต่ไม่มีเหตุการณ์บานปลาย ไม่กระทบต่อการแข่งขันฯ 

- ผลพิจารณาโทษ
1) ลงโทษกองเชียร์สโมสร นรา ยูไนเต็ด จุดประทัดบนอัฒจันทร์ก่อให้เกิดการรบกวนการแข่งขัน เป็นการกระทำการที่ไม่เหมาะสมในสถานที่จัดการแข่งขัน มีความผิดตามระเบียบฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 4.3 ปรับเงิน 30,000 บาท ลงโทษปรับหนึ่งในสี่ ปรับเงิน 7,500 บาท

2) ลงโทษสโมสร นรา ยูไนเต็ด บกพร่องด้านการตรวจเช็คควบคุมไม่ให้กองเชียร์นำประทัดเข้าไปในอัฒจันทร์ มีความผิดตามระเบียบฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 5.3.18 (1) ปรับเงิน 30,000 บาท เนื่องจากสโมสรนราฯ ถูกลงโทษไปแล้วจากการกระทำผิด เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2567 เป็นการกระทำความผิดตามระเบียบนี้ซ้ำในข้อเดียวกันภายในฤดูกาลแข่งขันเดียวกัน จึงปรับเงินเพิ่มอีก 10,000 บาท รวมโทษปรับเงิน 40,000 บาท แต่เนื่องจากเป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 3 จึงลงโทษปรับหนึ่งในสี่ ปรับเงิน 10,000 บาท

- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
ข้อ 4.3 ใช้วัสดุอุปกรณ์ใด ๆ ที่ก่อให้เกิดการรบกวนการทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน หรือนักกีฬาฟุตบอลระหว่างการแข่งขัน เช่น การเป่านกหวีด หรือการใช้แตร หรือการใช้แตรไฟฟ้า หรือฉายแสงเลเซอร์ เป็นต้น หรือกระทำการใด ๆ ที่ไม่เหมาะสมในสถานที่จัดการแข่งขัน ได้แก่ การจุดพลุ หรือจุดประทัด หรือจุดไฟเย็น หรือจุดวัตถุอื่นจนเกิดเป็นควัน หรือจุดพลุบริเวณที่ว่างด้านหลังของอัฒจันทร์ ทั้งก่อน หรือระหว่าง หรือหลังจากการแข่งขันจบลงแล้ว จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 30,000 บาท ถึง 60,000 บาท

หากผลจากการกระทำตามวรรคหนึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลใด หรือเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือสถานที่ใด องค์กรสมาชิกต้นสังกัดของกองเชียร์ที่กระทำ จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 70,000 บาท ถึง 150,000 บาท และต้องรับผิดชอบต่อค่ารักษาพยาบาลของผู้ที่ได้รับอันตราย และค่าเสียหายของทรัพย์สินหรือสถานที่ รวมทั้งอาจถูกพิจารณาเพิ่มโทษ

ข้อ 5.3.18 ความบกพร่องด้านการรักษาความปลอดภัยในวันแข่งขัน
(1) บกพร่องในการตรวจเช็คหรือควบคุมไม่ให้กองเชียร์หรือบุคคลใด นำขวดน้ำ พลุ ประทัดดอกไม้ไฟ หรือวัสดุที่สามารถนำไปใช้ในการทำร้ายกันได้ เข้าไปในสถานที่จัดการแข่งขัน หรืออัฒจันทร์ จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 30,000 บาท ถึง 50,000 บาท

บทที่ 3 ระเบียบว่าด้วยการลงโทษวินัย มารยาท สำหรับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพ และรายการกีฬาฟุตบอลอื่น ๆ ของสมาคม

ข้อความว่า “กรณีที่องค์กรสมาชิก (ทีม) นักกีฬาฟุตบอล เจ้าหน้าที่ทีม กองเชียร์ขององค์กรสมาชิก หรือเจ้าหน้าที่การแข่งขัน กระทำความผิดตามระเบียบนี้ซ้ำในข้อเดียวกันภายในฤดูกาลแข่งขันเดียวกัน ให้พิจารณาเพิ่มโทษอีกไม่เกินกึ่งหนึ่งของกำหนดโทษที่จะลง”

10. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 3 วันที่ 30 มีนาคม 2568 คู่ระหว่างสโมสร สุรินทร์ ซิตี้ พบ สโมสร สุรนารี แบล็คแคท เอฟซี 

- เหตุการณ์
เหตุการณ์ที่ 1 ในนาทีที่ 88 หลังจากผู้เล่นทีมเยือนสโมสร สุรนารี แบล็คแคท เอฟซี ทำประตูได้ มีกลุ่ม staff ทีมเยือนใส่ชุดสีดำ มีข้อความหลังเสื้อว่า “suranaree blackcat” จำนวน 5 คน ซึ่งไม่มีรายชื่อในม้านั่งสำรองนัดนี้ ได้กระโดดลงจากอัฒจันทร์บริเวณหลังม้านั่งสำรองทีมเยือน ลงไปดีใจในบริเวณสนามหน้าซุ้มม้านั่งสำรองทีมเยือนกับทาง staff และผู้เล่นที่อยู่ในม้านั่งสำรองประมาณ 1 นาที ก่อนจะกลับขึ้นมาบนอัฒจันทร์ โดยฝ่ายรักษาความปลอดภัยไม่สามารถห้ามได้ทัน 

เหตุการณ์ที่ 2 ในนาทีที่ 90+5 หลังจากผู้ตัดสินเป่านกหวีดหมดเวลาการแข่งขันชายกลุ่มเดิม จำนวน 5 คน ได้กระโดดลงจากอัฒจันทร์บริเวณหลังม้านั่งสำรองทีมเยือนอีกครั้ง เข้าไปในบริเวณสนามหน้าซุ้มม้านั่งสำรองทีมเยือน ซึ่งครั้งนี้สามารถบันทึกภาพและวีดิโอไว้เป็นหลักฐาน โดยผู้ควบคุมการแข่งขันได้แจ้งให้ staff ทีมเยือนและผู้ตัดสินที่ 4 เข้าไปเตือน ใช้เวลาอยู่ในสนามประมาณ 3 นาที จึงเดินกลับขึ้นไปบนอัฒจันทร์ มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่จุดหน้าอัฒจันทร์ จำนวน 1 คน ก็ไม่สามารถห้ามได้ทัน 

- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษกองเชียร์สโมสรสุรนารี แบล็คแคท เอฟซี นาทีที่ 88 และนาทีที่ 90+5 ผ่านรั้วกั้นรอบสนามเข้าไปในบริเวณพื้นที่รอบสนามแข่งขันโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งสองครั้งเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ มีความผิดตามระเบียบฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 4.2 ปรับเงินกรรมละ 20,000 บาท รวมโทษปรับเงิน 40,000 บาท แต่เนื่องจากเป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 3 จึงลงโทษปรับหนึ่งในสี่ ปรับเงิน 10,000 บาท     

- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
ข้อ 4.2 บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด ผ่านรั้วกั้นรอบสนามเข้าไปในบริเวณพื้นที่รอบสนามแข่งขัน หรือเข้าไปในสนามแข่งขัน  ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากการแข่งขัน โดยไม่ได้รับอนุญาต จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 50,000 บาท

การเข้าไปในสนามแข่งขันสามารถกระทำได้ หากทีมเยือนและเจ้าหน้าที่การแข่งขันได้เดินทางออกไปจากสถานที่จัดการแข่งขันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และองค์กรสมาชิกที่เป็นทีมเหย้าอนุญาต

11. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกสมัครเล่น รายการ “ไทยแลนด์ เซมิโปร ลีก” วันที่ 30 มีนาคม 2568 คู่ระหว่างสโมสร มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล เอฟซี พบ สโมสร ยูดี เวสสุวรรณ เอฟซี 

- เหตุการณ์
เริ่มการแข่งขันช้า 2 นาที เนื่องจากทั้งสองทีมออกจากห้องพักล่าช้า

- ผลพิจารณาโทษ
1) ลงโทษสโมสรมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล เอฟซี ไม่ทำตามกำหนดการ ขั้นตอน และการนับเวลาถอยหลัง มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 3.6 ความผิดครั้งแรก จึงลงโทษเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร และ/หรือ ชดใช้ค่าเสียหายให้กับสมาคม (ถ้ามี)

2) ลงโทษสโมสรยูดี เวสสุวรรณ เอฟซี ไม่ทำตามกำหนดการ ขั้นตอน และการนับเวลาถอยหลัง มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 3.6 ความผิดครั้งแรก จึงลงโทษเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร และ/หรือ ชดใช้ค่าเสียหายให้กับสมาคม (ถ้ามี)

- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
ข้อ 3.6 ต้องทำตามกำหนดการ ขั้นตอน และการนับเวลาถอยหลัง (OFFICIAL COUNTDOWN) ภายในระยะเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นจะเป็นความผิด ไม่ว่าจะเริ่มการแข่งขันในเวลาได้หรือไม่ก็ตาม 

ครั้งแรก เตือนเป็นลายลักษณ์อักษร และ/หรือ ชดใช้ค่าเสียหายให้กับสมาคม (ถ้ามี)

ครั้งต่อไป จะถูกปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 60,000 บาท และ/หรือ ชดใช้ค่าเสียหายให้กับสมาคม (ถ้ามี)

ข่าวสารอื่นๆ

Futsal & Beach Soccer

02 April 2025

ประกาศ : รายชื่อ 15 แข้ง ฟุตซอลหญิงทีมชาติไทย ชุดสู้ศึก SAT Futsal Championship Thailand 2025 ที่โคราช

ประกาศ : รายชื่อ 15 แข้ง ฟุตซอลหญิงทีมชาติไทย ชุดสู้ศึก SAT Futsal Championship Thailand 2025 ที่โคราช

National Team Women's

02 April 2025

OFFICIAL : ประกาศ รายชื่อ 23 แข้ง "ฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย" สู้ศึก CFA Internation Yongchuan 2025 ที่ จีน

OFFICIAL : ประกาศ รายชื่อ 23 แข้ง "ฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย" สู้ศึก CFA Internation Yongchuan 2025 ที่ จีน

Organization

02 April 2025

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ตรวจสอบอาคาร FA THAILAND ไม่พบความเสียหายที่ส่งผลต่อโครงสร้างหลักของอาคาร 

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ตรวจสอบอาคาร FA THAILAND ไม่พบความเสียหายที่ส่งผลต่อโครงสร้างหลักของอาคาร