10 October 2023
1 ปีที่ผ่านมา
พล.ต.อ. ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เคยเปรียบเปรยเส้นทางของนักเตะดาวรุ่งทีมชาติสักคน ว่าจริงๆ แล้ว ต้องเริ่มจากตรงไหน
“ถ้ามองภาพใหญ่ มันก็คือการสร้างโรงงานการผลิตนักฟุตบอล...สำคัญที่แต่ละขั้นตอน จะมีสายพานพาไปอย่างไร พาไปทำอะไร แต่ละขั้นตอนสำคัญต้องทำอะไรบ้าง”
ที่ผ่านมา สตาร์ดังของเมืองไทย นอกจากฝีเท้าดีแบบโดดเด่นแล้ว ยังต้องอาศัย “ดวง” หรือ “โชค” อีกมากมาย เพราะ “โอกาส” ไม่ได้มีมากเหมือนอย่างที่ พล.ต.อ. ดร.สมยศ พยายามวางรากฐานอย่างทุกวันนี้ ทำให้ยุค 10 - 20 ปีที่แล้ว เรามีนักเตะดาวเด่น แต่ไม่มากนัก...ซึ่งนั่นเป็นเรื่องน่าเสียดายที่คนที่มีแววอีกมากไม่ถูกค้นพบ ไม่ได้รับโอกาส เข้าไม่ถึงการคัดเลือก
แต่ยุคนี้โลกเริ่มเปลี่ยนไป กีฬากลายเป็นอาชีพที่ทำให้เข้าถึงโอกาสและการศึกษา ทำมาหาเลี้ยงตัวเอง มหาวิทยาลัยแทบทุกแห่งมีทุนสำหรับนักกีฬาให้เรียนฟรี นักฟุตบอลรุ่นใหม่ๆ ค้าแข้งในสโมสรดังทั้งในประเทศ ในเอเชียและยุโรป นักเตะรุ่นเก๋าผันตัวเป็นโค้ช ยังคงทำงานหาเลี้ยงครอบครัวได้ บางคนมีโอกาสไปเป็นโค้ชในต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ทำให้ความคิดของพ่อแม่ผู้ปกครองเปลี่ยนไป ทำให้หลายๆ ครอบครัว สนับสนุนลูกหลานให้เล่นกีฬา ยิ่งมีแววดี ยิ่งอยากให้เล่นเป็นอาชีพ เพราะเลี้ยงตัวได้ เลี้ยงครอบครัวได้ ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ได้ ถ้าวินัยและฝีมือถึง
เด็กหลายคนโชคดีที่ครอบครัวสนับสนุน ผลักดันแต่เล็ก ฝึกหนักโดยผู้ปกครองเอง หรือบางคนมีใจใฝ่และครอบครัวเห็นชอบให้เข้าโรงเรียนกีฬา บางคนบ้านใกล้สโมสรที่เปิดอคาเดมีสำหรับเยาวชน มีแรงบันดาลใจฝึกหนัก และเข้าอคาเดมีได้ในที่สุด บางคนพ่อแม่อยากให้ห่างไกลยาเสพติดก็ให้ไปเล่นกีฬา
สโมสรใหญ่ๆ ของประเทศไทย ผุดสิ่งที่เรียกว่า “อคาเดมี” ขึ้นมา เพื่อสรรหาเยาวชนที่มีแวว เข้ามาทดลองฝึกหัด ถ้ามีแววก็จะคัดเข้าอคาเดมี ฝึกพัฒนาเพื่อหวังให้เป็นนักเตะชุดเยาวชนรุ่นอายุ 16 – 18 ปี และอนาคตจะขึ้นมาเป็นชุดใหญ่ของสโมสร และคาดหวังว่าจะมีโอกาสติดทีมชาติ
น่าดีใจที่ในปัจจุบันเรามีอคาเดมีเอกชนแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจากที่แต่เดิมมีโรงเรียนกีฬากระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนและถือเป็นอีก 1 เสาหลักของ โครงการ “Grow Together” คือการสร้าง Academy Licensing เพื่อยกระดับอคาเดมี ที่เปรียบเสมือน “บ้านหลังที่สองของนักเตะ” ตามหลักเกณฑ์และหลักการของ โครงการ “Grow Together” ซึ่งคือโครงการที่เป็นหลักสูตรสร้างระบบนิเวศ หรือ Ecosystem ของฟุตบอล ที่ FIFA โดย อาร์แซน แวงแกร์ ประธานพัฒนาเทคนิคของ FIFA และอดีตผู้จัดการทีมอาร์เซนอล ออกแบบและพัฒนาจนได้มาตรฐาน ซึ่งประเทศไทยเป็น “ประเทศแรก” ที่ FIFA มอบระบบนี้มาให้ หลังจาก พล.ต.อ. ดร.สมยศ ได้เข้าหารือเพื่อหาความยั่งยืนให้ฟุตบอลไทยกับ FIFA โดยตรง
“Grow Together” มี 6 มิติ หรือ 6 เสาหลัก เพื่อค้ำจุนฟุตบอลไทยให้ไปได้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตามหลักสูตรที่ดีที่สุดหลักสูตรหนึ่ง ที่คิดมาโดยองค์กรอันดับหนึ่งด้านฟุตบอลโดยตรง ทำให้เสาหลักต้นที่ 3 คือ Academy Licensing เป็นเรื่องสำคัญอย่างไม่แพ้กัน
สำหรับเด็กวัยเยาวชนที่รักฟุตบอล “อคาเดมี” ถือว่าเป็นฝันอันยิ่งใหญ่ของพวกเขาและพวกเธอ ทำอย่างไรที่จะเข้าไปอยู่ในอคาเดมีนั้นได้ ทว่าที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้สำรวจปัญหาของอคาเดมีแล้วพบว่า สังคมฟุตบอลไทยในบริบทของอคาเดมี เผชิญปัญหาไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น
1. ไม่มีการกำหนดมาตรฐานของอคาเดมี
2. ไม่มีเกณฑ์ในการประเมินอคาเดมี
3. ไม่มีการให้ความรู้เรื่องอคาเดมีที่ดีควรเป็นอย่างไร
4. อคาเดมีไม่มีความยั่งยืน
5. นักกีฬาจำนวนลดลง เนื่องจากไม่มีการควบคุมคุณภาพของอคาเดมี
6. ไม่มีการให้คำแนะนำด้านการใช้ชีวิตแก่นักกีฬา
7. ไม่มีแบบฝึกซ้อมที่เหมาะกับพัฒนาการของนักกีฬาในแต่ละรุ่นอายุ
8. ไม่รู้จำนวนที่แท้จริงของอคาเดมีในประเทศที่มีคุณภาพ
9. ไม่มีชุมชนของอคาเดมีระดับสูง
9 ข้อข้างต้นคือปัญหาโลกแตกที่ฉุดรั้งการพัฒนาวงการฟุตบอลให้ช้าลงหลายปี หรือบางประเด็นก็ถึงกับหยุดชะงัก แค่ข้อแรก เรื่องการกำหนดมาตรฐานของอคาเดมี ที่ไม่เคยมี ลองนึกสภาพเด็กที่ถูกฝึกจากอคาเดมีที่ใช้การสอนคนละแบบ โค้ชเถื่อนบ้าง ดูแลได้ไม่เต็มที่บ้าง อุปกรณ์ฝึกไม่พร้อม สนามไม่มี สนามไม่ได้มาตรฐาน แล้วเด็กแต่ละอคาเดมีที่มาจากที่ที่ไม่มีการกำหนดมาตรฐานมาเตะแข่งกัน ไม่มีการแลกเปลี่ยนทักษะที่ถูกต้อง มีแต่ความไม่เป็นระบบ เหมือนจัดแข่งกันไป เพื่อให้ได้แข่ง แต่ไม่ได้ประโยชน์ ผลแพ้ชนะในสนามไม่ได้พิสูจน์ถึงความยั่งยืน
การที่อคาเดมี ไม่มีมาตรฐานเดียวกันจึงไม่ก่อให้เกิดการประเมินอคาเดมี ไม่เกิดการพัฒนา ย่ำอยู่กับที่ อะไรผิดไม่ได้แก้ อะไรดีไม่ได้รับการสนับสนุน และเมื่อเกิดความผิดพลาดไม่ว่าจะการดูแล การฝึกทักษะ การเลือกโค้ช ก็จะทำผิดซ้ำๆ เพราะไม่มีผู้รู้จริงเข้ามาให้ความรู้ แก้ไขว่าสิ่งที่ถูกต้องเป็นอย่างไร อคาเดมีตั้งมากี่ปี ทำผิดมาตลอดในจำนวนปีเท่านั้น เป็นเรื่องน่ากังวล เพราะไม่รู้ว่ามีเยาวชนกี่คนแล้วที่ฝึกทักษะที่ผิดๆ ออกไป ซึ่งเมื่ออคาเดมีไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้รับการประเมิน ไม่ได้รับการแก้ไขที่ผิดให้ถูกต้อง ย่อมเสื่อมไปตามกาล ไม่มีทางที่จะยั่งยืน ส่งผลให้นักเตะ “ไหล” ออกจากอคาเดมี จำนวนหนึ่งอาจจะหลุดวงโคจรออกจากสายฟุตบอลไปเลยอย่างน่าเสียดายมาก และเพราะอาจจะมีโค้ชหรือบุคลากรที่ไม่ได้รับการฝึกทักษะ ความรู้ วิธีการสอนที่ถูกต้อง รวมถึงจิตวิทยาการสื่อสาร อาจจะทำได้แค่การสอนฟุตบอล ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะผิดหรือถูก หนำซ้ำยังไม่สามารถให้คำแนะนำที่ถูกต้องด้านการใช้ชีวิต การสร้างทัศนคติที่ดี การรับมือปัญหา หรือการปฏิบัติตัวในชีวิตนอกสนามฟุตบอลให้แก่เยาวชนนักเตะได้ ซึ่งถือว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่อันตรายมาก
และอย่างที่ใน Coaching Education กำหนดหลักสูตรไว้แน่ชัดแล้วว่า ผู้ที่เรียนเพื่อจะเป็นโค้ชตามมาตรฐานของโครงการต้องสอบใบอนุญาตตามรุ่นอายุของนักเตะที่ตนเองจะเป็นโค้ชให้ แต่ในอคาเดมีที่ไม่ได้มาตรฐาน จะมีปัญหาการโค้ชที่ไม่มีแบบฝึกซ้อมที่เหมาะกับพัฒนาการของนักกีฬาในแต่ละรุ่นอายุ ไม่มีหลักสูตรไหนที่ One Fit for All ไม่มีทางที่หลักสูตรสอนเยาวชนรุ่นพื้นฐานอายุ 6-13 ปีจะเหมาะกับรุ่นอายุ 14-16 ปี เป็นต้น และทั้งหมดของปัญหาที่กล่าวมา มีปัญหาที่ใหญ่มากคือ เราไม่มีทางรู้เลยว่าอคาเดมีที่ไม่ได้มาตรฐานนี้มีอยู่กี่สิบกี่ร้อยแห่งในประเทศไทย สร้างนักเตะแบบผิดทาง มาปีละกี่คน มากี่ปีแล้ว
“Grow Together” ใน Curriculum ของ Academy Licensing เล็งเห็นปัญหามากมาย จากความไม่ได้มาตรฐานของอคาเดมีที่สามารถส่งผลเสียไปในวงกว้างและกระทบต่อนักเตะระดับเยาวชนอย่างไม่กล้าคาดเดาจำนวน จึงได้ออกแบบและสร้างระบบ Academy Licensing เพื่ออุดรอยรั่วทุกข้อเสีย และกำหนดมาตรฐานของอคาเดมี เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและเพื่อแบ่งประเภทของอคาเดมีได้อย่างชัดเจน
Academy Licensing เริ่มจากการสร้างเกณฑ์มาตรฐานอคาเดมี ประชาสัมพันธ์ให้ทุกอคาเดมีที่สนใจจะพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง มาลงทะเบียนกับสมาคมฯ นอกจากจะเพื่อสร้างฐานข้อมูล (Database) แล้ว นี่คือปฐมบทแห่งการแก้ปัญหา โดยสมาคมฯ จะดำเนินการตามหลักสูตร “Grow Together” ส่งข้อมูลการปรับมาตรฐานที่ถูกต้อง ซึ่งต้องทำเหมือนกันหมดทุกแห่งให้ทุกอคาเดมี เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของฟุตบอลในรุ่นเยาวชนไปพร้อมๆ กับเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอคาเดมีที่ดีพึงมีและควรจะเป็น จากนั้นให้ความรู้เรื่องการบริหารงานอคาเดมี เพื่อให้อคาเดมีเกิดความยั่งยืน สมาคมฯ จะส่งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและได้รับการอบรมมาเป็นอย่างดีไปส่งมอบองค์ความรู้ให้คำแนะนำ ให้ครบจบสมบูรณ์ อันไหนผิดก็ให้แก้ อันให้ดีก็ให้ทำต่อ และเมื่อปรับเปลี่ยนถูกต้องตรงตามมาตรฐานแล้ว จะตรวจสอบคุณภาพของอคาเดมีผ่านการทำ Academy Licensing เพื่อกำหนดเป้าหมายสำหรับการเพิ่มจำนวนของอคาเดมี รวมถึงร่วมกันสร้างชุมชนอคาเดมีระดับสูง เพื่อเป็นต้นแบบของอคาเดมีทั่วประเทศต่อไป
เมื่อผ่านมาตรฐานแล้ว ก็จะได้รับ License และกลายเป็น Academy Licensing สมาชิกอย่างเป็นทางการของสมาคมฯ แต่เพราะแต่ละอคาเดมี มีความพร้อมที่ไม่เท่ากัน จึงมีการแบ่งระดับ Academy Licensing ออกเป็น 3 ระดับ โดยทาง AFC จัดให้มีโครงการ AFC Elite Youth Scheme เพื่อแบ่งมาตรฐานของทีมเยาวชน ของสโมสรระดับอาชีพชั้นนำ และอคาเดมีระดับชาติของแต่ละประเทศในเอเชีย ออกเป็น 1 ดาว, 2 ดาว, 3 ดาว โดยใช้เกณฑ์ 20 ข้อของ AFC
นอกจากนี้ทางสมาคมฯ ได้ศึกษาแนวทางพัฒนาสำหรับอคาเดมีทุกระดับในประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของโครงการ “Grow Together” จึงได้ สร้างมาตรฐานเพิ่มเติมขึ้นมา 3 ระดับ สำหรับประเทศไทย เพื่อเป็นบันไดขั้นแรกให้กับทุกอคาเดมี เพื่อก้าวต่อไปได้ถึงคุณภาพระดับสากล
โปรแกรมการให้ใบอนุญาตรับรอง Academy Licensing มี 3 ระดับ ได้แก่
1. FAT Gold Level Academy (ทอง)
2. FAT Silver Level Academy (เงิน)
3. FAT Bronze Level Academy (ทองแดง)
ซึ่งในแต่ละระดับจะมีเนื้อหาที่จะให้ความรู้ แนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมสำหรับอคาเดมีในแต่ละขั้น เพื่อยกระดับคุณภาพของอคาเดมีไทยทีละระดับอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำได้จริง สามารถทำตามได้ที่ละขั้น ไม่ยากจนเกินไป หวังผลลัพธ์ได้เป็นขั้นเป็นตอน ไม่ก้าวกระโดดจนยากเกินไปสำหรับอคาเดมีที่มีข้อจำกัดมากกว่าแห่งอื่น
ซึ่งเมื่อมีอคาเดมีที่ทำสำเร็จเป็นตัวอย่างได้แล้ว สมาคมฯ จะนำตัวอย่างหรือข้อมูลจากอคาเดมีหรือทีมเยาวชนเหล่านี้ ไปปฏิบัติหรือประยุกต์ใช้เพื่อให้เหมาะสมกับแนวทางของสโมสร รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นประโยชน์แบบลูกโซ่ ส่งความยั่งยืนต่อๆ ไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดทีเดียว
ที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้จัดกิจกรรม Academy Visit เพื่อประเมินและช่วยเหลือศูนย์ฝึกอคาเดมีฟุตบอล ยกระดับมาตรฐานและให้การสนับสนุนด้านเทคนิค เปิดรับฟัง วิเคราะห์ปัญหา และความต้องการของอคาเดมี เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องการออกใบอนุญาตและหรือต่อใบอนุญาตอคาเดมี และเพื่อตรวจสอบอคาเดมีให้มีรูปแบบการฝึกสอนที่ถูกต้องตามมาตรฐาน ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม มีอคาเดมีเข้าร่วมกิจกรรมถึง 329 แห่ง นักฟุตบอลเข้าร่วมกิจกรรมถึง 706 คน และผู้ฝึกสอนเข้าร่วมกิจกรรมถึง 675 คน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีอคาเดมีทั่วประเทศไทย ขึ้นทะเบียนกับสมาคมฯ แล้ว 780 อคาเดมี โดยสมาคมฯ มีเป้าหมายที่จะยกระดับอคาเดมีที่ขึ้นทะเบียนแล้ว เตรียมพร้อมที่จะขอใบอนุญาตรับรองอคาเดมี ดังนี้
- AFC 3 ดาว 1 แห่ง
- AFC 2 ดาว 2 แห่ง
- AFC 1 ดาว 5 แห่ง
- FAT ทอง 35 แห่ง
- FAT เงิน 120 แห่ง
- FAT ทองแดง 500 แห่ง
National Team Women's
08 January 2025
OFFICIAL : มาดามแป้ง นายกสมาคมฯ เปิดตัว "ฟูโตชิ อิเคดะ" เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยชุดใหญ่
Competitions
07 January 2025
ประกาศ : แจ้งระงับโปรแกรมการแข่งขันของสโมสร สมุทรปราการ ซิตี้
Announcement
07 January 2025
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท จัดประชุม ครั้งที่ 21 ประจำฤดูกาล 2567/68 โดยมี นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ เป็นประธาน