10 October 2023
1 ปีที่ผ่านมา
คุณจะเชื่อไหม หากมีคนคาดการณ์ว่า...อีกไม่นานเกินรอ ทัพนักเตะไทย ไม่ว่าชาย-หญิง , ชุดใหญ่ หรือชุดเยาวชนรุ่นอายุเท่าใด ก็ล้วนแล้วแต่จะสามารถนำพาธงไทยที่อยู่บนอกเสื้อ ไปได้ถึงระดับโลกอย่างแน่นอน!?
ไม่มีความยั่งยืนใด ก่อเกิดและตั้งอยู่ได้หากปราศจากรากลึก เช่นเดียวกับไม่มีความสำเร็จใด ได้มาอย่างปราศจาก การวางแผน นี่คือสูตรสำเร็จที่ยั่งยืนของทุกอย่างบนโลกใบนี้ที่สำเร็จแล้ว ถูกพัฒนาให้ยั่งยืนแล้ว ทั้งหมดล้วนมาจากการ “วางรากฐาน” และการ “วางแผน” ที่มีวิสัยทัศน์เสมอ แต่ในเมื่อโลกพัฒนาอยู่ทุกวินาที อาจจะทำให้ “เรื่องดี” เมื่อ 5 หรือ 10 ปี ที่แล้ว อาจจะ “ดีไม่พอ” สำหรับวินาทีนี้ก็ได้ และนั่นเป็นสาเหตุให้ ไม่ว่าจะบริหารหน่วยงานไหน หรือองค์กรใด “การพัฒนาและปรับตัวตามโลก” เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
“กีฬา” เป็นไม่กี่อย่างที่เป็น “สากล” กล่าวคือไม่จำกัดว่าจะอายุเท่าไหร่ เพศอะไร เชื้อชาติไหน ศาสนาใด เพียงรู้วิธีเล่นและกติกา ไม่ว่าใคร ก็สามารถเข้าถึงและสนุกกับกีฬาได้ และหากจะพูดถึงกีฬาที่เป็นที่นิยมที่สุดชนิดหนึ่งของโลก หนึ่งในนั้นแน่นอนว่าจะต้องมี “ฟุตบอล” อยู่ด้วย
“ฟุตบอล” เป็นอีกหนึ่งภาษาสากลของทั้งเหล่าผู้ชม ของนักเตะ ของโค้ช ของกรรมการ ของผู้กำกับเส้น ของทีมแพทย์ข้างสนาม ของเหล่าสปอนเซอร์ ทันทีที่เสียงนกหวีดให้สัญญาณการเริ่มแข่ง...ความเป็นหนึ่งเดียวของทุกคนอยู่ในเกมๆ นั้น
ทว่าน้อยคนเหลือเกินที่จะฉุกใจหรือรู้สึกถึง “เบื้องหลัง” ของการก่อเกิดอันได้นำไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้ว...
ลองคิดเล่นๆ ว่าเวลา 8 ปี ยาวนานแค่ไหน ก็ถือว่าไม่ได้ช้านานนัก แต่ก็ไม่ได้เร็วแบบทันอกทันใจ
8 ปีอาจจะเท่ากับอายุของทารกคนหนึ่งจากครรภ์ของมารดา เติบโตขึ้นเป็นเด็กน้อยน่ารักวัยช่างพูดช่างคุยของครอบครัว อยู่ในวัยปลูกฝังทั้งความรู้และศีลธรรมอันดี
8 ปีอาจจะเท่ากับอายุของไม้ยืนต้นสักชนิด ที่เริ่มจากการเพาะเมล็ดแล้วค่อยๆ ได้น้ำ-กินแสงแดด เติบโตขึ้นมาจนลำต้นเริ่มแข็งแรง รากแน่นยึดติดกับผืนดิน ผลิดอก ออกช่อ ให้ผลได้บ้างแล้ว
8 ปีอาจจะเป็นวัยของเด็กบางคน ที่รู้ตัวว่าหลงรักเจ้าลูกกลมๆ ที่เรียกว่าฟุตบอล แล้วกำลังหาโอกาส หาทางไป หาทางต่อยอดและพัฒนา...แต่น่าเสียดายว่าจำนวนมาก หาไม่เจอ...พรสวรรค์ถูกจำกัด พรแสวงไม่ได้รับการสนับสนุน
แต่ 8 ปี สำหรับผู้ชายคนนี้ คือการยอมรับตำแหน่งที่ไม่คุ้นเคย แถมเป็นงานที่เรียกได้ว่า “ทำดีก็เสมอตัว” เพราะการทำงานเบื้องหลังในระดับบริหารแน่นอนว่าต้องมาพร้อม “ความรับผิดชอบ” ซึ่งส่วนใหญ่จะต้อง “รับผิด” มากกว่า “รับชอบ” ด้วยซ้ำ แต่ด้วยทักษะที่ผ่านงานบริหารองค์กรที่ใหญ่ที่สุดองค์กรหนึ่งของประเทศไทยมาแล้ว เขาพยายามประสานงานกับทุกฝ่าย หาวิธีประนีประนอม ไม่แข็งกร้าว เน้นการให้กำลังใจ สร้างแรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะในขณะที่ดูแลองค์กรใด ก็ปฏิบัติไม่ต่างกัน พร้อมทั้งคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะ “พัฒนา” งานในมือให้ไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร
เขาเข้าใจว่าไม่ว่าชนชาติไหนก็ย่อมอยากเชียร์ทีมที่ติดธงประเทศตัวเองให้ไปได้ไกลกว่า “ระดับประเทศ” คนไทยทุกคนอยากเห็น “บอลไทย” ไปให้ถึง “ระดับโลก” และนั่นเป็นพันธกิจที่เขาสัญญากับตัวเองว่าจะทำให้ได้
พล.ต.อ. ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายตำรวจนักบริหาร ประวัติการศึกษาไม่ได้เฉียดกรายสายกีฬา เขาผ่านโรงเรียนนายร้อยตำรวจ, ปริญญาตรีนิติศาสตร์, ปริญญาโทรัฐศาสตร์การเมือง และปริญญาเอกการบริหารงานยุติธรรมและสังคม เขาเกิดมาเพื่อเป็นตำรวจ และขึ้นไปบนยอดสูงสุดของยุทธจักรดาวแปดแฉกของวงการสีกากีในตำแหน่ง “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ”
“มันไม่ง่ายเท่าไหร่”
“ท่านนายกฯ” ของสื่อทุกสำนักเริ่มต้นเล่าอย่างง่ายๆ เมื่อถูกถามถึงช่วงแรกที่ต้องรับตำแหน่ง “นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์”
ธรรมชาติของดาวรุ่งรุ่นก่อน ไม่ว่าจะเป็นโค้ช นักเตะ หรือกรรมการ มีอดีตอันรุ่งโรจน์ของตัวเองเป็นประวัติศาสตร์และเป็นอีโก้ หลายคนเชื่อว่าตัวเองเก่ง การจะเข้ามาปรับเปลี่ยนเป็นยาขมของคนรุ่นเก่า และคนที่มีความคิดแบบเก่า การจะทำให้เปิดใจรับจนทำงานด้วยกันได้เป็นเรื่องที่ยากมาก
“เพราะเราไม่ใช่คนกีฬา 100% การจะทำให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกันเป็นเรื่องยาก ไม่ว่าจะเป็นสปอนเซอร์ สโมสร แม้กระทั่งโค้ช หรือนักเตะ ไม่เคยถูกเซ็ตมาก่อนเลยว่าจะทำยังไง”
พล.ต.อ. ดร.สมยศ เข้ามาบริหารสมาคมฟุตบอลฯ ในปี 2016 ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวของโลกที่เริ่มหมุนเร็วขึ้น จากก่อนหน้านี้สื่อหลักมีแค่โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ แต่ในรอบการบริหาร 8 ปีของเขา อินเทอร์เน็ตและแอพพลิเคชั่นมากมายมีบทบาทมากขึ้น คนเข้าถึงสื่อกีฬาและได้ดูการแข่งขันมากขึ้น ความนิยมในฟุตบอลพุ่งเหมือนจรวดจากภาคพื้นดินสู่ฟากฟ้า ทุกมิติของฟุตบอลเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
โลกฟุตบอลยุคใหม่ เราพูดกันถึงเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การกีฬารุดหน้า การเปลี่ยนนักกีฬาธรรมดาเป็นนักกีฬาที่แข็งแกร่งด้วยการฝึกและเสริมทั้งการกิน การนอน การออกกำลังกายที่ถูกคำนวณมาอย่างเป็นระบบ การโค้ชด้วยข้อมูลสถิติที่ถูกเก็บอย่างแม่นยำและวิเคราะห์ออกมาด้วยอัลกอริทึ่มคอมพิวเตอร์ การวางแผนการเล่นที่เฉียบคมจากความรู้ความสามารถของผู้ฝึกสอนที่จะต้องเรียนตามระบบที่ถูกออกแบบไว้อย่างดี มีการสอบใบอนุญาต (License) บนจริยธรรมการกีฬาที่ปกป้องสวัสดิภาพและสิทธิ์ของนักกีฬา การตัดสินของกรรมการที่นอกจะต้องมีร่างกายที่พร้อม ผ่านมาตรฐาน แม่นยำในกติกา ยังต้องปรับตัวจากการใช้ระบบที่ทันสมัยที่สามารถตรวจสอบย้อนภาพ (VAR) และระบบ AI ที่ถูกนำมาใช้หาความชัดเจนในการตัดสิน โภชนาการนักเตะที่มีการออกแบบโดยอาชีพใหม่ๆ อย่าง “นักกำหนดอาหาร” ที่กลายเป็นเรื่องจำเป็นของนักกีฬาระดับโลก ลีกต่างๆ ของหลายประเทศที่ออกแบบโครงสร้างมาอย่างดี และทำให้ประเทศของเขากลายเป็น “จ้าวฟุตบอล” ทั้งในระดับทวีปและระดับโลก
“ฟุตบอลไทยเมื่อก่อนไม่ได้เป็นข่าวมาก นึกถึงสมัยที่เราไม่ได้มีพื้นที่สื่อมากมายนัก แข่งชนะก็ไม่ได้มีข่าวดังอะไร นักเตะดาวรุ่ง ที่ปัจจุบันคนที่ไม่ค่อยได้ตามข่าวหรือดูฟุตบอลก็จะได้ยินอยู่ไม่กี่ชื่อ แต่คำถามคือ ถ้าพวกสตาร์เหล่านั้นผ่านขีดจำกัดที่ฟิตที่สุดไปแล้ว รุ่นต่อไปเราจะหามาเสริมอย่างไร แล้วหามาแล้วจะทำให้ยั่งยืนอย่างไร เราไปดูงานอังกฤษ ไปดูงานญี่ปุ่น เราเห็นผลลัพธ์ที่น่าทึ่งที่พวกเขาทำได้”
นั่นเป็นสิ่งที่ พล.ต.อ. ดร.สมยศ ถามตัวเองเสมอ และพยายามหาคำตอบให้ได้
มันเป็น 8 ปี ที่ความฝันอันยิ่งใหญ่ไม่เคยเหือดหาย แต่ก็เป็น 8 ปีที่เขาไม่เคยทิ้ง “จุดอ่อนที่สุด” คือความไม่พูด จนโลกไม่รู้เลยว่า เขากำลังทำอะไรอยู่บ้าง และสิ่งที่เขาทำอยู่ มีคุณูปการต่อวงการฟุตบอลไทยมากแค่ไหน
เวลา 8 ปี = 2,922 วัน ที่นายตำรวจคนหนึ่งมานั่งเก้าอี้ “ประมุขบอลไทย” ด้วยการเอาทักษะการบริหารนำหน้า เขาไม่ได้ไปลงลึกกับดาวเตะที่กำลังดังอยู่แล้ว แต่เขากำลังหาวิธีว่าจะทำอย่างไรที่ประเทศไทยจะมีดาวเตะเป็นหมื่นเป็นแสนคนให้ได้ และเป็นได้อย่างดี มีอนาคต มีโอกาสรองรับให้ครบวงจร
...เพราะรู้ว่า “โอกาส” ของบางคนอาจจะมีเพียงหนเดียวในชีวิต มีนักเตะดังระดับโลกมากมายที่มาจากพื้นฐานที่ “ติดลบ” ชีวิตวัยเด็กลำเค็ญ อยู่ในสถานที่เสื่อมโทรม ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้ายว่าจะตายในฐานะ “ขี้ยา” หรือจะกลายเป็นสตาร์ในพรีเมียร์ลีก กัลโช่ ซีเรียอา ลาลีก้า บุนเดสลิก้า ..และหลายคนได้โอกาสนั้น และด้วย ฝีเท้า วินัย ความสามารถ ความมุมานะ ทำให้นักฟุตบอลระดับโลกจำนวนไม่น้อย เดินผ่านจุดที่ต่ำที่สุด จุดที่มืดที่สุด จุดที่แย่ที่สุด และคว้าดาวมาได้สำเร็จ
...แล้วทำไมเด็กไทย จะมีโอกาสอย่างนั้นไม่ได้!?
หลังจากพยายามวางรากฐานด้วยสิ่งที่พื้นฐานที่สุดอย่างการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบของนักเตะทุกอายุ โค้ช ผู้ช่วยโค้ช จนสมาคมฟุตบอลฯ โดยการบริหารของ พล.ต.อ. ดร.สมยศ ก่อเกิดเป็นฐานข้อมูลที่ใหญ่และแข็งแกร่งประมาณหนึ่ง แต่เขายังอยากที่ทำให้ดีขึ้น
หากอยากสำเร็จ ให้ไปปรึกษาคนที่เชี่ยวชาญที่สุด...เขาจึงบินไปปรึกษากับ FIFA และการตัดสินใจบินไปปรึกษา FIFA ในครั้งนั้น เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ฟุตบอลไทย...ไปตลอดกาล...
ปฐมบทแห่งความยั่งยืนของฟุตบอลไทย เริ่มขึ้นอย่างเงียบเชียบจนหลายคนไม่รู้ แต่คนที่ริเริ่มและลงมือทำมาได้หลายปีแล้ว พล.ต.อ. ดร.สมยศ ถือว่าสิ่งที่ทำลงไป ประสบความสำเร็จในขั้นต้น เมื่อเวลาผ่านไป คนไทยทั้งประเทศจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของฟุตบอลไทยอย่างแน่นอน
สิ่งที่ FIFA มอบให้ พล.ต.อ. ดร.สมยศ ในวันนั้นคือ โครงการ “Grow Together” อันเป็น “คู่มือ” การจัดทำโครงสร้างระบบนิเวศ หรือ Ecosystem ของฟุตบอล ที่ FIFA โดย อาร์แซน แวงแกร์ ประธานพัฒนาเทคนิคของฟีฟ่า และอดีตผู้จัดการทีมอาร์เซนอล ออกแบบและพัฒนาจนได้มาตรฐาน ซึ่งประเทศไทยเป็น “ประเทศแรก” ที่ FIFA มอบระบบนี้มาให้วางรากฐาน และที่พิเศษยิ่งกว่านั้นคือ ได้มอบหมายให้ บุคคลสำคัญคนหนึ่งแห่งโลกลูกหนังอย่าง “การ์เลส โรมาโกซา” นักบริหารเทคนิคฟุตบอลชาวสเปนผู้มากประสบการณ์ เคยทำงานร่วมกับสโมสรบาร์เซโลนา และปารีส แซงต์ แชร์กแมง รวมถึงสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นและฟินแลนด์ เป็นตัวแทน FIFA ให้นำคู่มือดังกล่าว ลัดฟ้ามาช่วยวางระบบและปรับแต่งให้เหมาะกับบริบทของสังคมไทย
นับว่าเป็นเตรียมความพร้อมที่รอบคอบอย่างยิ่ง ที่ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ. ดร.สมยศให้ทีมงานของสมาคมฯ เก็บข้อมูลอย่างละเอียดของนักเตะทุกรุ่น ตลอดจนโค้ช รวมถึงบุคลากรผู้เกี่ยวข้องในวงการฟุตบอลเอาไว้ เมื่อ FIFA ได้มอบ “Grow Together” คือ Ecosystem มาให้ จึงสามารถนำข้อมูลที่เก็บมาตลอดตั้งแต่ปี 2016 เมื่อครั้งแรกเข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมฯ มาปรับใช้ใน “Grow Together” ได้อย่างเหมาะเจาะพอดี
“Grow Together” คือ “หลักสูตรการพัฒนาฟุตบอลเยาวชนทั้งประเทศ” ที่แบ่งหมวดการพัฒนาออกเป็น 6 มิติ ครบตั้งแต่ต้นจนจบ สำหรับนักเตะทั้งบอลชาย บอลหญิง โค้ช บุคลากร ผู้ปกครอง ตลอดจนหน่วยงาน เรียกได้ว่าครอบคลุมทุกองคาพยพที่จะพัฒนาบอลไทยชนิด “ปั้นดินไปถึงดาว” อย่างแท้จริง ซึ่ง 6 มิตินั้นประกอบด้วย
1. Coaching Education – หลักสูตรการ “สร้างโค้ชมาตรฐานโลก” เพื่อให้ในอนาคตอันไม่ไกล เราจะมีโค้ชที่มีขีดความสามารถที่ทั่วโลกยอมรับ ทางสมาคมฯ ได้สร้างบทวิเคราะห์ฟุตบอลไทยและปรัชญาการพัฒนาฟุตบอลไทย โดยมีการสร้างหลักสูตรผู้ฝึกสอนฟุตบอลที่มีอัตลักษณ์สอดคล้องกับฟุตบอลไทย ซึ่งในหลักสูตรมีการเรียนการสอนและการฝึกภาคปฏิบัติให้แก่ผู้ที่สนใจจะเป็นผู้ฝึกสอนฟุตบอล และแน่นอนว่าจะต้องมีการสอบ License หรือใบอนุญาต โดยใบอนุญาตนี้เทียบเท่ากับ AFC (Asian Football Confederation) หรือสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย
2. Grassroots – เพราะไม่ว่า “การชนะ” ในสนามแข่งจะสำคัญแค่ไหน สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ความใส่ใจ” ต่อทรัพยากรที่สำคัญที่สุดอย่าง “นักเตะ” ที่ “Grow Together” มีหน้าที่เฟ้นหาดูแลตั้งแต่อายุน้อยๆ ตามสถิติต่างประเทศ พบว่ามีนักเตะสตาร์ดังระดับแนวหน้ามากมาย ที่ฉายแววตั้งแต่เล็กๆ แค่ 5 - 6 ขวบ ก็ถูกพาเข้าอคาเดมีแล้ว และการที่จะดูแลเด็กคนหนึ่งที่มีแววด้านฟุตบอล ไม่ใช่แค่การพาไปฝึกหัดในสนามแต่เพียงอย่างเดียว Grassroots ถูกคิดขึ้นมาเพราะความใส่ใจต่อการเติบโตอย่างสมบูรณ์แบบของเด็กที่เล่นฟุตบอลเก่งคนหนึ่ง อย่างไม่ใช่ให้แค่เติบโตไปเป็น “นักบอล” ชื่อดัง แต่ต้องเป็น “มนุษย์” ที่ได้รับการดูแลในทุกช่วงวัย จากทั้งผู้ใหญ่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปค้นหา ให้โอกาสอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมาจากครอบครัวแบบไหน ฐานะทางบ้านเป็นอย่างไร ถ้าเขาหรือเธอคนนั้นรักฟุตบอล ย่อมต้องได้รับโอกาส ซึ่งเป็นไปตามแนวคิด Talent Development Scheme ของ FIFA ที่ว่า "Give everybody a chance to play"
3. Academy – ความสำเร็จทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้น หากขาดซึ่งการจัดระเบียบอย่างเป็นระบบ จากหน่วยงานที่จะดูแลรับผิดชอบนักฟุตบอลทุกอายุรุ่นอย่าง “อคาเดมี” การเปิดลงทะเบียนให้ “อคาเดมี” ที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย เพื่อเชื่อมต่อกับสมาคมฯ มีการสื่อสารระหว่างกันอย่างชัดเจน จัดกิจกรรมร่วมกัน แบ่งปันองค์ความรู้ มีคอร์สอบรมบุคลากรในสังกัดอคาเดมี รวมถึงการรับรองนักเตะทุกคนในสังกัดให้มี FIFA ID (กรณีอายุ13ปีขึ้นไป) ซึ่งสามารถใช้ได้ทั่วโลก ข้อมูลของทั้งอคาเดมีและสมาชิกจะถูกนำไปทำฐานข้อมูล ประวัติ และถูกเก็บติดตามสถิติอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่เยาวชนคนนั้นๆ เข้าสู่อคาเดมี เติบโตฝีเท้าจัดระดับค้าแข้ง อคาเดมีจะสามารถสำแดงสิทธิ์ในฐานะผู้ฝึกนักเตะ หากมีกรณีการซื้อตัวโอนย้ายไปสู่ระดับอาชีพ
4. Competitions – นับแต่นี้เราจะไม่รอให้ “ช้างเผือก” ปรากฏตัว แต่เราจะ “ปูพรม” หา “ช้างเผือก” สายฟุตบอล ที่เราเชื่อเหลือเกินว่า จะต้องมีอยู่มากมาย แต่พวกเขาไม่เคยถูกมองเห็น แต่จากนี้ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน เราจะหาให้เจอ!...เป็นไปไม่ได้เลยที่โลกจะได้พบนักเตะที่ “มีแวว” หากเด็กคนนี้ไม่มีโอกาสที่จะลงโลดแล่นในสนามฟุตบอล สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จัดการแข่งขันฟุตบอลลีกสำหรับเยาวชน ในรุ่นอายุไม่เกิน 14 16 และ 18 ปี เพื่อเป็นเวทีให้นักฟุตบอลเยาวชนไทยในรุ่นอายุต่างๆ ได้มีโอกาสในการแข่งขันฟุตบอล ในรายการที่ได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ และนำมาซึ่งโอกาสในการพัฒนาฝีเท้าและความเข้าใจในเกมฟุตบอลอย่างถูกต้อง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของนักฟุตบอลเยาวชน ในการต่อยอดสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพในอนาคตต่อไป
5. Talent Identification – หลังจากผู้เชี่ยวชาญลงสนามตามดูทุกนัดแล้ว แน่นอนว่าจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เราย่อมจะเจอ “ช้างเผือก” ที่ฉายแววฝีเท้าจัดๆ ซึ่งเด็กเหล่านี้จะถูกส่งตัวมาถึงขั้นตอนของ Talent ID จัดชุดเป็นทีมเยาวชน แบ่งรุ่น แบ่งระดับ จัดตำแหน่งที่เหมาะสมในทีม แยกโซนเพื่อความสะดวกในการจัดการแข่งขันเพื่อยกระดับขีดความสามารถ โดยสมาคมฯ ส่งทีม Scout ทั้ง 12 คน เพื่อเฟ้นหานักกีฬาที่มีความโดดเด่น เพื่อนำมาเก็บตัว ฝึกซ้อมและพัฒนา ภายใต้การดูแลของโค้ชเยาวชนทีมชาติ สร้างสังคมนักเตะรุ่นเล็กให้เชื่อมโยงรู้จักกัน และเติบโตไปด้วยกัน มุ่งสู่ทีมชาติและระดับโลกต่อไป
6. Sports Science And Technology – ในโลกที่ AI กำลังจะรันแทบทุกวงการ การนำเทคโนโลยีเข้ามาปฏิวัติวงการกีฬาเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนและหวังผลลัพธ์ที่ทั้งเลิศและเที่ยงตรงได้เสมอ “Grow Together” สร้างเทคโนโลยีเชื่อมข้อมูลเข้ากับแพลตฟอร์ม ACADEMY LICENSING , E LEARNING , COMPETITION MANAGEMENT เพื่อให้ทั้งทางฝั่งสมาคมฯ อคาเดมี โค้ช นักเตะ ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครองนักเตะทุกรุ่น ทุกช่วงอายุ สามารถเข้าถึงข้อมูล สถิติ อันเป็นประโยชน์ ซึ่งทั้งหมดถูกออกแบบมาให้อัพเดทอยู่เสมอและใช้งานง่าย ราบลื่น ไม่มีสะดุด ข้อมูลทั้งหมดจะเชื่อมโยง 6 มิติเข้าด้วยกัน มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการวิเคราะห์หลักสูตรอยู่ตลอดเวลา เพื่อนำผลที่ได้มาประยุกต์และปรับใช้ อันนำไปสู่การพัฒนาไปพร้อมๆ กันอย่างไม่หยุดยั้ง “Grow Together” จะนำพา “ฟุตบอลไทยยุคใหม่” ให้ก้าวทันโลกอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าโลกจะหมุนไปไวแค่ไหน แต่ด้วยเทคโนโลยี Sports Science & Technology จะทำให้ข้อมูลจากการวิเคราะห์แบบ Real Time สร้างความสดใหม่เติมเต็มองค์ความรู้อยู่ตลอดเวลา ทางสมาคมฯ ได้มีการใช้ Hardware และ Software เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลด้านสมรรถภาพ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์เกมเชิงกลยุทธ์ ในการสร้างแบบฝึกที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยในการพัฒนาความสามารถของนักกีฬาให้เพิ่มมากขึ้น
และนี่คือ 6 มิติแบบ “พอสังเขป” สรุปมาให้สั้นที่สุดเท่าที่จะพอให้สั้นได้ ทั้งที่จริงแล้วรายละเอียดของ 6 เสา หรือ 6 มิติ ที่ค้ำจุน Ecosystem ของโครงการ “Grow Together” มีรายละเอียดมากมายนัก...โดยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 การกีฬาแห่งประเทศไทย (SAT) กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) ร่วมกับ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “Grow Together” อย่างเป็นทางการ
คนไทยเกือบทั้งประเทศได้รู้ถึงการมีอยู่ของ “Grow Together” และสมาคมฟุตบอลฯ ได้นำ “คู่มือระดับ FIFA” มาวางรากฐานโครงสร้างฟุตบอลให้ครบวงจร และถูกใช้งานแล้วอย่างเป็นระบบระเบียบ น่าทึ่ง คาดหวังผลสัมฤทธิ์ได้ และที่สำคัญที่สุด 8 ปีที่ผู้ชายคนนี้ลงแรงทั้งหมด...คือความยั่งยืน
ขณะนี้ ต้นกล้าที่ชื่อว่า Grow Together หยั่งรากลึกลงไปสู่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวของกับฟุตบอลไทย และพร้อมจะทำให้ต้นไม้ต้นนี้เติบโตไปอย่างสวยงามและมั่นคง
ไม่ว่านับจากนี้ใครจะขึ้นมาเป็น “ประมุขบอลไทย” หากระบบที่วางเอาไว้นี้ยังคงถูกทำต่อไป ความหวังที่จะเห็นบอลไทยไปไกลถึงระดับโลก สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
“การจะพาเด็กคนหนึ่งที่สนใจฟุตบอล พาเขาไปหาโอกาสที่เขาจะได้เล่นในสนาม ได้ฝึกฝน จูงมือไปสู่การพัฒนา ได้มีโค้ชที่เก่ง ได้มีผู้ดูแลที่ดี ทำอย่างถูกต้องมาตรฐานสากล จนในที่สุดเด็กในวันก่อน ได้ไปถึงทีมชาติในวันข้างหน้า มันเป็นเรื่องของการสร้างรากฐาน สร้างระบบที่ดี ระบบที่ครบวงจร ที่ยั่งยืน การที่บอลไทยจะไปบอลโลก ไม่ใช่แค่เตะชนะ แต่มันหมายถึงการดูแลทุกภาคส่วนให้ถึงมาตรฐานโลก นั่นแหละ ที่จะทำให้ทีมฟุตบอลไปสุดแล้วหยุดที่ระดับโลกได้”
อย่างที่ทราบกันว่าการวางรากฐานของฟุตบอลไทยต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา รากฐานของฟุตบอลไทยได้ถูกปลูกเอาไว้โดย “ประมุขบอลไทย” พล.ต.อ. ดร.สมยศ มีความตั้งใจที่จะพัฒนาวงการฟุตบอลไทยเพื่อต่อยอดไปสู่ระดับมาตรฐานสากล
“ก็ภูมิใจเหมือนกัน ที่ทุกวันนี้การทำงานในสมาคมฯ ถือเป็น “งานในฝัน” ของหลายๆ คนที่รักในฟุตบอลจากสมาคมฯ ไม่ใหญ่ สู่วันนี้ที่นำพาองค์กรให้ใหญ่ขึ้น เป็นระบบขึ้น มีหลักการ หลักเกณฑ์ มีฐานข้อมูลที่ใช้ได้จริง มีคู่มือจาก FIFA ที่จะทำให้เราพัฒนาไปอย่างยั่งยืน”
มีประโยคหนึ่งที่จัดว่าน่าจับใจไม่น้อย สำหรับความฝันอันยิ่งใหญ่ต่อทีมฟุตบอลจากประเทศเล็กๆ ที่ก็อาจจะเคยมีช่วงรุ่งโรจน์บ้าง เป็นแชมป์ระดับเอเชียบ้าง หรือร่วงฟอร์มตกให้แฟนๆ ใจหายบ้าง...หลายคนย่อมสงสัย...เขาเอาแรงใจไหนมาสู้กับแรงกดดันอันมหาศาลตลอด 8 ปีที่ทำหน้าที่ประมุขลูกหนังไทย
“มันเป็นเรื่องของศรัทธา และความไม่ยอมแพ้ ในสนามฟุตบอล สิ่งสำคัญที่สุดคือการการคว้าชัยชนะเหนือเกมนั้นๆ แต่พอพูดถึงฟุตบอล คนที่ดูฟุตบอล จะดูผลแค่แพ้-ชนะ ในสนาม แต่สำหรับคนทำงานเบื้องหลัง พวกเราเองก็แพ้ไม่ได้ ผมศรัทธาในความไม่ยอมแพ้ เพราะผลของชัยชนะของเรา มันกว้างใหญ่และมากมายเหลือเกิน ผลการชนะของคนทำงานข้างหลังแม้จะไม่มีใครทราบ แต่ผลจะประจักษ์ชัดว่าส่งผลดีต่อวงการบอลไทย เราต่อสู้เพื่อวางรากฐาน ก่อ ร่าง สร้างความยั่งยืนของของโครงสร้าง และระบบนิเวศของฟุตบอลไทยทั้งระบบ ผลของชัยชนะคือเราจะสามารถพัฒนาแบบไม่หยุดยั้ง...ผมคิดว่าคนไทยฝันเหมือนกันหมด คืออยากให้บอลไทยไปบอลโลก...ซึ่งสำหรับวิธีที่ปฏิบัติกับความฝันที่ดีที่สุด...คือ “ฝันแล้วลงมือทำ” ทีมงานสมาคมฯ ทุกชีวิต รวมถึงตัวผมเอง ทำมา 8 ปีแล้วครับ...พวกเรามุ่งมั่นและตั้งใจมาก ที่จะทำความฝันนี้ให้เป็นจริง ให้เป็นของขวัญคนไทยให้ได้ วาระของนายกสมาคมฯ มีวาระเวลาของมัน แต่รากฐานที่วางไว้ให้ ถ้าทำต่อไป ฝันนี้ของคนไทย ฝันที่จะเห็นธงไทยไปโบกสะบัดในสนามระดับโลก แน่นอนว่าเราต้องการให้นักเตะไทย ทั้งชายทั้งหญิง ทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นเล็ก ชนะทุกสนามที่เขาแข่ง...แต่สำหรับพวกเรา ชัยชนะไม่ได้อยู่แต่บนสนามเพียงอย่างเดียว...”
และนี่คือปณิธานของ พล.ต.อ. ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้ที่ภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่รับผิดชอบสมาคมฟุตบอลฯ เป็นอย่างยิ่งนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งวันแรก...ตราบกระทั่งวันนี้
Announcement
11 December 2024
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท จัดประชุม ครั้งที่ 18 ประจำฤดูกาล 2567/68 โดยมี นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ เป็นประธาน
Development
11 December 2024
ฝ่ายอบรม สมาคมฯ ประกาศรับสมัครผู้เข้าร่วม "อบรมผู้ฝึกสอน" หลักสูตร บี ประจำปี 2568
Development
11 December 2024
ผู้ตัดสินระดับ ไทยลีก 1-2 ทดสอบร่างกาย เพื่อเตรียมพร้อม ปฏิบัติหน้าที่ใน เลกสอง ฤดูกาล 2024/25