25 February 2025

2 เดือนที่ผ่านมา

สรุปผลการประชุมคณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ครั้งที่ 28 ประจำฤดูกาล 2567/68

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท จัดประชุม ครั้งที่ 28 ประจำฤดูกาล 2567/68 โดยมี นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ เป็นประธาน

พิจารณาเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน

1. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการ “เมืองไทย ลีก” ไทยลีก 2 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 คู่ระหว่างสโมสร พลังกาญจน์ เอฟซี พบ สโมสร โปลิศ เทโร เอฟซี  (สโมสร โปลิศ เทโร เอฟซี ร้องเรียนมา 1 เหตุการณ์) 

- เหตุการณ์
ในนาทีที่ 90+4 ผู้เล่นหมายเลข 21 Mr. Mohamed Mara สโมสร พลังกาญจน์ เอฟซี ใช้ท่อนแขนและร่างกายกีดขวางการเข้าเล่นลูกบอลของผู้รักษาประตูหมายเลข 18 นายอณิพงษ์ กิจคาม สโมสร โปลิศ เทโร เอฟซี ในกรอบเขตโทษจนล้มลง ซึ่งจากจังหวะต่อเนื่องนั้น มีผู้เล่นหมายเลข 41 Mr. DE ANDRADE PEDRO JUNIOR สโมสร พลังกาญจน์ เอฟซี ได้กระโดดโหม่งบอลและสามารถทำประตูเข้าไป แต่ผู้ตัดสินไม่ได้มีการเป่าฟาวล์ ทำให้สโมสร โปลิศ เทโร เอฟซี เสียประตูดังกล่าว

- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษนายภูวศักดิ์ สุขกันต์ ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 2 เดือน เนื่องจากผู้เล่นหมายเลข 21 Mr. Mohamed Mara สโมสร พลังกาญจน์ เอฟซี ได้เข้าไปชนผู้รักษาประตูหมายเลข 18 นายอณิพงษ์ กิจคาม สโมสร โปลิศ เทโร เอฟซี จนล้มลงทำให้ไม่สามารถป้องกันประตูได้ แต่ผู้ตัดสินไม่มีการเป่าฟาล์วและให้เป็นประตู จากการตัดสินที่ผิดพลาดในครั้งนี้ ทำให้สโมสร โปลิศ เทโร เอฟซี เสียประตูและมีผลต่อการแข่งขัน 

2. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการไทยลีก 3 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568  คู่ระหว่างสโมสร เอยูยู อินเตอร์ แบงค็อก พบ สโมสร มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เอฟซี (สโมสร เอยูยู อินเตอร์ แบงค็อก ร้องเรียนมา 1 เหตุการณ์) 

- เหตุการณ์
ในนาทีที่ 62 ผู้เล่นหมายเลข 13 นายเสกสรร รานอก สโมสร เอยูยู อินเตอร์ แบงค็อก ได้เลี้ยงบอลเข้าไปในกรอบเขตประตู ได้มีผู้เล่นหมายเลข 20 นายสนธยา โททำ สโมสร มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เอฟซี เข้ามาสกัดด้านหลัง โดยใช้แขนซ้ายผลักที่บริเวณหลังของผู้เล่นคนดังกล่าว แต่ผู้ตัดสินไม่ได้มีการเป่าฟาล์ว ทำให้สโมสร เอยูยู อินเตอร์ แบงค็อก ไม่ได้จุดโทษ

- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษนายอนุชา ปิ่นอมร ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (3) พักการปฏิบัติหน้าที่ 1 เดือน เนื่องจากผู้เล่นหมายเลข 20 นายสนธยา ไททำ สโมสร มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ได้ใช้มือผลักผู้เล่นหมายเลข 13 นายเสกสรร รานอก สโมสร เอยูยู อินเตอร์ แบงค็อก จนล้มลงในเขตโทษ แต่ผู้ตัดสินไม่มีการเป่าฟาล์ว ถือว่าตัดสินไม่ถูกต้อง จากความผิดพลาดครั้งนี้ทำให้ทีมเสียโอกาสในการทำประตู ซึ่งอาจมีผลต่อการแข่งขัน 

3. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการ “บีจีซี เมืองไทยประกันภัย คัพ” วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 คู่ระหว่างสโมสร สมุทรสาคร ซิตี้ พบ สโมสร ธนบุรี ยูไนเต็ด (สโมสร ธนบุรี ยูไนเต็ด ร้องเรียนมา 2 เหตุการณ์) 

- เหตุการณ์ที่ 1
ในนาทีที่ 90+1 ผู้เล่นหมายเลข 32 นายรัชพล นาวันโน สโมสร สมุทรสาคร ซิตี้ ได้วิ่งเข้ามาจากทางด้านหลังของผู้เล่นหมายเลข 8 นายธนกร โวหารคล่อง สโมสร ธนบุรี ยูไนเต็ด เพื่อทำการเล่นบอลแต่ได้ล้มลงไปเองในกรอบเขตโทษ ผู้ตัดสินได้ทำการเป่าฟาล์วและให้จุดโทษกับสโมสร สมุทรสาคร ซิตี้ 

- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษนายวรินทร สัสดี ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 6 สัปดาห์ เนื่องจากผู้เล่นหมายเลข 8 นายธนกร โวหารคล่อง สโมสร ธนบุรี ยูไนเต็ด อยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าได้ทำการบังลูกบอล โดยมีผู้เล่นหมายเลข 32 นายรัชพล นาวันโน สโมสร สมุทรสาคร ซิตี้ วิ่งเข้ามาจากด้านหลัง ทำให้เกิดการเบียดชนที่เป็นปกติของการเล่น ไม่มีการทำผิดกติกาในลักษณะของการเตะหรือขัดขาแต่อย่างใด แต่ผู้ตัดสินเป่าให้สโมสรสมุทรสาคร ซิตี้ ได้เตะโทษ ณ จุดโทษ ถือว่าตัดสินไม่ถูกต้อง

- เหตุการณ์ที่ 2 
เหตุการณ์ที่ 2 ในนาทีที่ 90+2 จากเหตุการณ์ต่อเนื่องของเหตุการณ์แรก ผู้เล่นหมายเลข 17 นายจัตุรงค์ หลงศรีภูมิ สโมสร ธนบุรี ยูไนเต็ด ได้เข้าไปขอคำอธิบายจากผู้ตัดสิน เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการตัดสินให้เป็นจุดโทษของสโมสร สมุทรสาคร ซิตี้ แต่ผู้ตัดสินได้ทำการคาดโทษ (ใบเหลือง) ให้ผู้เล่นคนดังกล่าว 

- ผลพิจารณาโทษ
พฤติกรรมของผู้เล่นหมายเลข 17 นายจัตุรงค์ หลงศรีภูมิ ทีม ธนบุรี ยูไนเต็ด หลังจากผู้ตัดสินเป่าให้จุดโทษ ได้เข้ามาคัดค้านการตัดสินด้วยคำพูดและท่าทาง ผู้ตัดสินจึงให้ใบเหลือง เป็นไปตามกติกาข้อ 12 หน้า 111 ความผิดที่ต้องถูกคาดโทษ (ใบเหลือง) ถือว่านายวรินทร สัสดี ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้อง

พิจารณาเหตุการณ์ไม่ปกติของการแข่งขันกีฬาฟุตบอล

4. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 1 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 คู่ระหว่างสโมสร เมืองทอง ยูไนเต็ด พบ สโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด 

- เหตุการณ์
เหตุการณ์ที่ 1 นาทีที่ 84 กองเชียร์สโมสร เมืองทองฯ ฝั่ง NH บริเวณหลังประตูด้านทิศเหนือ ได้ปาแก้วน้ำจากที่นั่งใส่กองเชียร์สโมสร บุรีรัมย์ฯ ฝั่ง NA เป็นจำนวนมาก และขว้างปาเป็นระยะเวลานาน ประมาณ 2-3 นาที ทำให้กองเชียร์สโมสร บุรีรัมย์ฯ ได้ปาแก้วน้ำตอบโต้กลับใส่กองเชียร์สโมสร เมืองทองฯ เช่นกัน ในปริมาณที่น้อยกว่าฝั่งสโมสร เมืองทอง ยูไนเต็ด ซึ่งพื้นที่เกิดเหตุนั้นมีการขว้างปาผ่านพื้นที่ฟรีโซนกันไปมา ระยะห่าง ณ จุดปาแก้วน้ำ ประมาณ 10-15 เมตร สาเหตุของเหตุการณ์ดังกล่าวคาดว่ามาจากการร้องเพลงเชียร์ตอบโต้กันไปมาของกองเชียร์ทั้งสองฝ่าย จนเกิดความไม่พอใจกัน ขณะเกิดเหตุการณ์โฆษกสนามของทีมเหย้า ได้ประกาศขอความร่วมมือให้กองเชียร์ทั้งสองสโมสรหยุดขว้างปากัน 

เหตุการณ์ที่ 2 หลังจบการแข่งขัน ขณะที่เจ้าหน้าที่ทีมและผู้เล่นสโมสร บุรีรัมย์ฯ เดินไปขอบคุณกองเชียร์ และร่วมกันร้องเพลงสโมสร บริเวณใกล้กับกองเชียร์สโมสร เมืองทองฯ ได้มีกองเชียร์สโมสร เมืองทองฯ ฝั่ง NH บริเวณหลังประตูด้านทิศเหนือ ปาแก้วน้ำลงมาจากอัฒจันทร์ ใส่กลุ่มเจ้าหน้าที่ทีมและผู้เล่นสโมสร บุรีรัมย์ฯ ที่มายืนขอบคุณแต่ไม่โดน ผู้เล่นสโมสร บุรีรัมย์ฯ ได้ขอความร่วมมือให้หยุดปา โดยไม่มีเหตุการณ์บานปลาย

ในนัดนี้ สโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ด ได้ขอใช้สนามบีจี สเตเดียม ในการจัดการแข่งขันเป็นทีมเหย้าชั่วคราว โดยมีการแจ้งกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มีตำรวจ 20 นาย รปภ. 100 นาย นัดนี้มีกองเชียร์เข้าชม 10,323 คน 

เหตุการณ์ที่ 3 หลังจบการแข่งขัน Mr.Gino Lettieri หัวหน้าผู้ฝึกสอนสโมสร เมืองทองฯ เข้าไปในสนามหาผู้ตัดสินที่ยืนอยู่ในสนามนั้น และได้ใช้ภาษาต่างประเทศโดยคาดว่าเป็นภาษาอิตาลี ที่ผู้ตัดสินไม่สามารถแปลความหมายเข้าใจได้ว่าพูดอะไร แต่จากการดูคลิปเหตุการณ์พบว่า Mr.Gino Lettieri มีพฤติกรรมคัดค้านไม่พอใจคำตัดสินอย่างชัดเจน โดยเข้าไปหาผู้ตัดสินมีการชี้มือแสดงท่าทางเพื่อขอคำอธิบายในเหตุการณ์ต่าง ๆ จากผู้ตัดสิน ก่อนที่เจ้าหน้าที่ทีมและผู้เล่นจะช่วยกันตัวออกไป จากนั้นเมื่อไม่ได้รับคำอธิบายจากผู้ตัดสิน Mr.Gino Lettieri ยังไม่ลดละพฤติกรรม ใช้มือชี้ไปทางทีมงานผู้ตัดสิน และเดินตามผู้ตัดสินตะโกนแสดงความไม่พอใจต่อเนื่องจนผู้ตัดสินออกจากสนามไป 

 เหตุการณ์ที่ 4 เรื่องการแถลงข่าวของ Mr.Gino Lettieri หัวหน้าผู้ฝึกสอนสโมสร เมืองทองฯ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ฝ่ายจัดการแข่งขันจึงตรวจสอบพบว่า เป็นการแถลงข่าวหลังจบการแข่งขัน มีเหตุการณ์การแถลงข่าวหลังจบการแข่งขันของ Mr.Gino Lettieri หัวหน้าผู้ฝึกสอนสโมสร เมืองทองฯ ที่ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อวิจารณ์การทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน เป็นภาษาอังกฤษ โดยมี Mr.Siaka Dagno ทำหน้าที่เป็นล่ามแปล ซึ่งมีเนื้อหาในลักษณะที่แปลเป็นไทยว่า “ผมไม่เข้าใจผู้ตัดสิน บุรีรัมย์เป็นทีมที่มีผู้เล่นคุณภาพอยู่เยอะ กรรมการไม่น่าช่วยบุรีรัมย์  สิ่งที่เห็นวันนี้เราเห็นชัดเจนเกี่ยวกับกรรมการ ซึ่งเราไม่เข้าใจ” 

- ผลพิจารณาโทษ
1) ลงโทษกองเชียร์ทีม เมืองทองฯ ขว้างปาแก้วน้ำนาทีที่ 84 มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 4.4 ปรับเงิน 60,000 บาท

ลงโทษกองเชียร์ทีม บุรีรัมย์ฯ ขว้างปาแก้วน้ำตอบโต้ มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 4.4 ปรับเงิน 40,000 บาท

2) ลงโทษกองเชียร์ทีม เมืองทองฯ ขว้างปาแก้วน้ำหลังจบเกม มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 4.4 ปรับเงิน 50,000 บาท

3) ลงโทษทีม เมืองทองฯ จำนวนเจ้าหน้า รปภ. ไม่ครบตามระเบียบการแข่งขัน มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 5.3.18 (3) ปรับเงิน 20,000 บาท

4) ลงโทษ Mr.Gino Lettieri หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีม เมืองทองฯ แสดงกิริยาไม่เหมาะสมต่อหน้าสาธารณชน มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 2.5 ถูกพักการทำหน้าที่ 2 นัด และปรับเงิน 10,000 บาท

5) ลงโทษ Mr.Gino Lettieri หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมเมืองทองฯ วิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อ ทำให้เกิดความเสียหาย หรือเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือภาพลักษณ์ของสมาคม มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 2.10 ครั้งแรกปรับ 100,000 บาท
  
- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ

ข้อ 2.5 แสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมต่อหน้าสาธารณชน เช่น เข้าไปประท้วงการตัดสินของผู้ตัดสิน ผู้ช่วยผู้ตัดสิน แสดงกิริยาก้าวร้าว ข่มขู่เจ้าหน้าที่การแข่งขัน หรือกระทำการยั่วยุ อันอาจเป็นเหตุนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยในสถานที่จัดการแข่งขัน การแสดงสัญลักษณ์ต่าง ๆ หรือใช้ภาษากายที่สังคมทั่วไปเห็นว่าไม่เหมาะสมต่อบุคคลใด หรือปลุกเร้านักกีฬาฟุตบอลอันอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่รุนแรง ทั้งก่อน ระหว่าง หรือหลังการแข่งขัน ถูกพักการทำหน้าที่ 2 นัด และปรับเงิน 10,000 บาท ถึง 20,000 บาท

ข้อ 2.10 วิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อ ทำให้เกิดความเสียหาย หรือเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือภาพลักษณ์ของสมาคม ครั้งแรกปรับ 100,000 บาท และครั้งต่อไปปรับเพิ่มอีกครั้งละ 100,000 บาท

ข้อ 4.4 กองเชียร์ทีมใด หรือกลุ่มบุคคลใด หรือบุคคลใด ขว้างปาหรือกระทำด้วยประการใด ให้วัสดุหรือสิ่งของอื่นใด เข้าไปในสนามก็ดี หรือกระทำต่อนักกีฬาฟุตบอล หรือเจ้าหน้าที่ทีม หรือกองเชียร์ทีมคู่แข่งขัน หรือเจ้าหน้าที่การแข่งขันก็ดี องค์กรสมาชิกต้นสังกัดของกองเชียร์ที่เป็นผู้กระทำ และ/หรือ องค์กรสมาชิกที่เป็นทีมเหย้าที่ปล่อยให้มีการกระทำดังกล่าวต้องรับโทษ จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 30,000 บาท ถึง 60,000 บาท

ข้อ 5.3.18 ความบกพร่องด้านการรักษาความปลอดภัยในวันแข่งขัน
(3) หากองค์กรสมาชิกที่เป็นทีมเหย้า มีข้อบกพร่องในระบบงานรักษาความปลอดภัย ที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการจัดการแข่งขัน ในแต่ละรายการแข่งขัน จะถูกลงโทษปรับเงินตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท และ/หรือ ห้ามจัดการแข่งขันในฐานะทีมเหย้า 1 นัดเป็นอย่างน้อย จนกว่าจะแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นให้ผ่านการรับรองจากฝ่ายจัดการแข่งขัน

5. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 2 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 คู่ระหว่างสโมสร สุพรรณบุรี เอฟซี พบ สโมสร พลังกาญจน์ เอฟซี

- เหตุการณ์
หลังจบการแข่งขันระหว่างที่ผู้ตัดสินกำลังเดินออกจากสนาม ได้มีนายบำรุง บุญพรม ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน สโมสร สุพรรณบุรีฯ ซึ่งไม่มีรายชื่อในการแข่งขัน ได้ด่าผู้ตัดสินด้วยถ้อยคำหยาบคาย สาเหตุคือไม่พอใจการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินในช่วงที่สโมสร พลังกาญจน์ฯ ตีเสมอ 3-3 ในช่วง 90+12 

- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษนายบำรุง บุญพรม ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน ทีม สุพรรณบุรีฯ ด่าเจ้าหน้าที่การแข่งขันด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 2.6 ถูกพักการทำหน้าที่ 2 นัด ปรับเงิน 40,000 บาท แต่เนื่องจากเป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 2 จึงลงโทษปรับสองในสาม ปรับเงิน 26,666 บาท

- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
ข้อ 2.6 กรณีด่าบุคคลใด ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย หรือเยาะเย้ย ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือแสดงกิริยาก้าวร้าว ข่มขู่ เช่น การเหยียดผิวหรือเชื้อชาติบุคคลใดด้วยพฤติกรรมที่ชัดแจ้ง ทั้งภาษากาย ถูกพักการทำหน้าที่ 2 นัด และปรับเงิน 40,000 บาท

6. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 3 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 คู่ระหว่างสโมสร สมุทรสงคราม ซิตี้  พบ สโมสร อัสสัมชัญ ยูไนเต็ด 

- เหตุการณ์
หลังหมดเวลาการแข่งขันได้มีกองเชียร์สโมสร สมุทรสงคราม ซิตี้ บางส่วนที่นั่งอยู่ฝั่งซ้ายของอัฒจันทร์หลัก ซึ่งเป็นที่นั่งที่ทีมเหย้าจัดไว้สำหรับกองเชียร์สโมสร สมุทรสงคราม ซิตี้ ตามแผนผังสนาม โดยกลุ่มกองเชียร์ดังกล่าวใส่เสื้อสีแดงและสีฟ้าซึ่งเป็นเสื้อเชียร์ของสโมสร สมุทรสงคราม ซิตี้ ได้เดินมายืนอยู่ระหว่างกึ่งกลางข้างบนอัฒจันทร์อุโมงค์ทางเข้าสนามเพื่อดักรอทีมงานผู้ตัดสินเดินเข้าห้องพัก และได้ด่าผู้ตัดสินด้วยถ้อยคำหยาบคาย โดยกองเชียร์เสื้อสีแดงได้ด่าผ่านเครื่องโทรโข่ง โดยสาเหตุการด่าเกิดจากสโมสร สมุทรสงคราม ซิตี้ ยิงเข้านาทีสุดท้าย แล้วกรรมการยกธงล้ำหน้า

- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษกองเชียร์ทีม สมุทรสงครามฯ ด่าเจ้าหน้าที่การแข่งขันด้วยถ้อยคำที่หยาบคายผ่านเครื่องโทรโข่ง มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 4.1 วรรคสาม ปรับเงิน 40,000 บาท และห้ามนำอุปกรณ์ดังกล่าวเข้าสถานที่จัดการแข่งขัน 1 นัด แต่เป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 3 จึงลงโทษปรับหนึ่งในสี่ ปรับเงิน 10,000 บาท 

- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
ข้อ 4.1 ด่าบุคคลใด ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย หรือเยาะเย้ย ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือแสดงกิริยาก้าวร้าว ข่มขู่ เช่น การเหยียดผิวหรือเชื้อชาติบุคคลใดด้วยพฤติกรรมที่ชัดแจ้ง ทั้งภาษากาย จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 30,000 บาท

หากการกระทำผิดตามวรรคแรก กระทำโดยบุคคลหลายคนโดยพร้อมเพรียงกัน จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 40,000 บาท  

หากเป็นการกระทำโดยผ่านเครื่องโทรโข่ง หรือเครื่องขยายเสียงประกอบการเชียร์ หรือถ่ายทอดสดผ่านทางสื่อออนไลน์ ปรับเงินตั้งแต่ 30,000 บาท ถึง 50,000 บาท และห้ามนำอุปกรณ์ดังกล่าวเข้าสถานที่จัดการแข่งขัน 1 ถึง 4 นัด

7. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 3 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568  คู่ระหว่างสโมสร เมืองตรัง ยูไนเต็ด  พบ สโมสร ปัตตานี เอฟซี

- เหตุการณ์
เริ่มการแข่งขันล่าช้า 2 นาที เนื่องจากสโมสร ปัตตานี เอฟซี ออกจากห้องพักนักกีฬาล่าช้า และผู้ควบคุมการแข่งขันได้ไปตามที่ห้องแต่งตัวแล้ว เมื่อเข้าสู่พิธีการในสนาม เพลงสรรเสริญพระบารมีจบลง ทั้งสองทีมถ่ายรูปข้างสนาม ผู้ควบคุมการแข่งขันได้เข้าไปแจ้งทั้งสองทีมว่าถึงเวลาเริ่มการแข่งขันแล้ว โดยสโมสร เมืองตรัง ยูไนเต็ด ได้รีบทำกิจกรรมต่าง ๆ และพร้อมสู่การแข่งขัน ส่วนสโมสร ปัตตานี เอฟซี ยังคงทำการบูม และวอร์มก่อนลงสนามอีกครั้ง และยังคงบูมกลางสนามอีกครั้งนึง ทำให้เริ่มการแข่งขันเวลา 18.02 น. ล่าช้า 2 นาที

- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษทีม ปัตตานีฯ ไม่ทำตามกำหนดการขั้นตอนและการนับเวลาถอยหลัง (OFFICIAL COUNTDOWN) มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 3.6 เป็นความผิดครั้งแรก จึงลงโทษเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรว่าให้สโมสรปฏิบัติตามกำหนดการขั้นตอนและการนับเวลาถอยหลังอย่างเคร่งครัด และ/หรือ ชดใช้ค่าเสียหายให้กับสมาคม (ถ้ามี)

- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
 ข้อ 3.6 ต้องทำตามกำหนดการ ขั้นตอน และการนับเวลาถอยหลัง (OFFICIAL COUNTDOWN) ภายในระยะเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นจะเป็นความผิด ไม่ว่าจะเริ่มการแข่งขันในเวลาได้หรือไม่ก็ตาม 

ครั้งแรก เตือนเป็นลายลักษณ์อักษร และ/หรือ ชดใช้ค่าเสียหายให้กับสมาคม (ถ้ามี)

ครั้งต่อไป จะถูกปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 60,000 บาท และ/หรือ ชดใช้ค่าเสียหายให้กับสมาคม (ถ้ามี)

ข่าวสารอื่นๆ

Announcement

29 April 2025

สรุปผลการประชุมคณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ครั้งที่ 36 ประจำฤดูกาล 2567/68

สรุปผลการประชุมคณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ครั้งที่ 36 ประจำฤดูกาล 2567/68

National Team Women's

29 April 2025

เอเอฟซี จับสลาก 2026 AFC U-20 Women's Asian Cup qualification หา 11 ชาติผ่านเข้ารอบสุดท้าย ที่ประเทศไทย

เอเอฟซี จับสลาก 2026 AFC U-20 Women's Asian Cup qualification หา 11 ชาติผ่านเข้ารอบสุดท้าย ที่ประเทศไทย

Youth and Grassroots Football

28 April 2025

78 เยาวชน ภาคใต้ เข้าร่วมโครงการค้นป่าหาช้างเผือก FIFA Talent ID 2025 เลกสอง

78 เยาวชน ภาคใต้ เข้าร่วมโครงการค้นป่าหาช้างเผือก FIFA Talent ID 2025 เลกสอง