11 December 2024

16 วันที่ผ่านมา

สรุปผลการประชุมคณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ครั้งที่ 18 ประจำฤดูกาล 2567/68

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท จัดประชุม ครั้งที่ 18 ประจำฤดูกาล 2567/68 โดยมี นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ เป็นประธาน

 

พิจารณาเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน

1. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการ “รีโว่ ไทยลีก” ไทยลีก 1 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2567 คู่ระหว่างสโมสร ราชบุรี เอฟซี พบ สโมสร ขอนแก่น ยูไนเต็ด (สโมสร ขอนแก่น ยูไนเต็ด ร้องเรียนมา 1 เหตุการณ์)


- เหตุการณ์

ในนาทีที่ 69 ผู้เล่นหมายเลข 31 นายสัมพันธ์ เกษี สโมสร ขอนแก่น ยูไนเต็ด เปิดลูกฟรีคิกเข้ามาในกรอบเขตโทษ ผู้เล่นหมายเลข 2 Mr. ABRIEL DONATIEN MUTOMBO KUPA สโมสร ราชบุรี เอฟซี ได้จับบอลหลุดจากเท้า ทำให้ผู้เล่นหมายเลข 5 Mr. DIEGO LUIZ LANDIS สโมสร ขอนแก่น ยูไนเต็ด สามารถแย่งชิงบอลและมีโอกาสที่จะทำประตู แต่ถูกผู้เล่นหมายเลข 2 Mr. ABRIEL DONATIEN MUTOMBO KUPA สโมสร ราชบุรี เอฟซี เข้ามาปะทะจากทางด้านหลังจนล้มลง แต่ผู้ตัดสินไม่ได้เป่าให้ฟาล์ว รวมถึงทาง VAR ไม่ได้มีการเรียกให้ผู้ตัดสินออกมาทำการตรวจสอบ (On-field review) แต่อย่างใด จึงทำให้สโมสร ขอนแก่น ยูไนเต็ด ไม่ได้จุดโทษจากจังหวะนี้


- ผลพิจารณาโทษ

ลงโทษนายอู่เส็น ยะลา ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขันตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (3) พักการปฏิบัติหน้าที่ 1 เดือน เนื่องจากผู้เล่นหมายเลข 2 Mr. ABRIEL DONATIEN MUTOMBO KUPA สโมสร ราชบุรี เอฟซี ได้เตะขัดขาผู้เล่นหมายเลข 5 Mr. DIEGO LUIZ LANDIS สโมสร ขอนแก่น ยูไนเต็ด ล้มลงในเขตโทษ ถือเป็นการกระทำผิดตามกติกาข้อ 12 Fouls and Misconduct หน้า 105 Direct free kick ที่ต้องให้เตะโทษโดยตรง แต่เหตุการณ์เกิดขึ้นในเขตโทษต้องให้เตะโทษ ณ จุดโทษ


ลงโทษนายนที ชูสุวรรณ ผู้ตัดสินวีดิทัศน์ (VAR) ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขันตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 1 สัปดาห์ เนื่องจากได้ทำการตรวจสอบแล้วเห็นด้วยกับการตัดสินว่าไม่มีการกระทำผิดกติกา จึงไม่ได้มีการแจ้งให้ผู้ตัดสินออกมาตรวจสอบ (On-field review) 

 

2. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการไทยลีก 3 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 คู่ระหว่างสโมสร มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ พบ สโมสร พราม แบงค็อก (สโมสร มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ ร้องเรียนมา 2 เหตุการณ์)

- เหตุการณ์ที่ 1

ในนาทีที่ 72 จากจังหวะที่บอลลอยอยู่กลางอากาศ ผู้เล่นหมายเลข 7 นายวีรพงศ์ อ้นเพียร สโมสร มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ และผู้เล่นหมายเลข 3 นายสุมนะ สลับเพชร สโมสร พราม แบงค็อก ได้กระโดดเพื่อแย่งชิงบอลกัน โดยที่ผู้เล่นหมายเลข 3 นายสุมนะ สลับเพชร สโมสร พราม แบงค็อก ได้กระโดดและมีท่อนแขนฟาดไปโดนที่บริเวณลำคอของผู้เล่นหมายเลข 7 นายวีรพงศ์ อ้นเพียร สโมสร มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ ซึ่งผู้ตัดสินได้มีการเป่าให้สโมสรมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ ได้ฟาล์ว แต่ไม่ได้มีการคาดโทษ (ใบเหลือง) หรือ ไล่ออก (ใบแดง) กับเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด 

- ผลพิจารณาโทษ

พฤติกรรมของผู้เล่นหมายเลข 3 นายสุมนะ สลับเพชร สโมสร พราม แบงค็อก ในขณะกระโดดได้กางแขนออก ทำให้เกิดการชนปะทะบริเวณคอของผู้เล่นหมายเลข 7 นายวีรพงศ์ อ้นเพียร ผู้ตัดสินได้เป่าฟาล์ว และไม่มีการคาดโทษ (ใบเหลือง) เนื่องจากไม่ได้เป็นการเจตนาทำร้ายและความรุนแรงมีไม่มากนัก เป็นการกระทำผิดตามกติกาข้อ 12 Fouls and Misconduct หน้า 105 Direct free kick เกี่ยวกับการเล่นในลักษณะของการขาดความระมัดระวัง (Careless) ที่ต้องให้เตะโทษโดยตรง ถือว่านายวัชระ วงษ์ขันธ์ ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้อง

- เหตุการณ์ที่ 2

ในนาทีที่ 90+1 สโมสรมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ ได้เตะมุมเข้ามา โดยที่ลูกบอลกำลังจะลอยออกจากเส้นหลังประตู ได้มีผู้เล่นหมายเลข 90 Mr. MOHAMED KOUADIO สโมสร มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ ได้เตะลูกบอลที่กำลังลอยออกจากเส้นหลังประตูเข้ามาในเขตโทษอีกครั้ง จากจังหวะต่อเนื่องผู้เล่นหมายเลข 7 นายวีรพงศ์ อ้นเพียร สโมสร มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ สามารถทำประตูเข้าไปได้ แต่ผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 2 ได้ยงธงแจ้งว่าลูกบอลได้ออกไปก่อนแล้ว ทำให้สโมสรมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ ไม่ได้ประตูจากจังหวะดังกล่าว

- ผลพิจารณาโทษ

ยกคำร้อง เนื่องจากคลิปภาพเหตุการณ์มุมกล้องไม่อยู่ในตำแหน่งที่สามารถแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าลูกบอลผ่านออกจากเส้นประตูก่อนหรือไม่ หากมีการพิจารณาชี้ชัดไปทางใดทางหนึ่ง อาจเกิดความไม่เป็นธรรมกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้   

 

3. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการ “บีจีซี เมืองไทยประกันภัย คัพ” วันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 คู่ระหว่างสโมสร สิงห์ เชียงราย ซิตี้ พบ สโมสร พิษณุโลก เอฟซี (คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ส่งเรื่องให้คณะประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตัดสิน)

- เหตุการณ์

หลังจบการแข่งขัน นายพิทยุตม์ กระทง เจ้าหน้าที่ทีมฝึกสอน สโมสรสิงห์ เชียงราย ซิตี้ ได้เดินเข้ามาในสนาม โดยได้ใช้คำพูดที่เป็นการข่มขู่ผู้ตัดสิน และได้มาดักรอในอุโมงค์ก่อนจะถึงห้องพักผู้ตัดสิน ซึ่งได้ทำการข่มขู่อีกครั้ง ผู้ตัดสินทั้ง 4 คน ได้ยินอย่างชัดเจน แต่ผู้ตัดสินไม่ได้ทำการคาดโทษ (ใบเหลือง) หรือไล่ออก (ใบแดง) กับเจ้าหน้าที่ทีมสโมสรสิงห์ เชียงราย ซิตี้ แต่อย่างใด

- ผลพิจารณาโทษ

ลงโทษนายณัฐวุฒิ พรชัยพิรุฬห์ ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 3 สัปดาห์ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวของนายพิทยุตม์ กระทง เจ้าหน้าที่ทีมฝึกสอน สโมสรสิงห์ เชียงราย ซิตี้ เป็นการกระทำผิดที่ต้องถูกไล่ออก (ใบแดง) ตามกติกาข้อ 12 Fouls and Misconduct  หน้า 116 Sending-off offences include แต่ผู้ตัดสินกลับไม่มีการลงโทษใด ๆ เนื่องจากเห็นว่าการแข่งขันได้จบไปแล้ว ถือว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องและไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นการละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ 

 

4. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการ “บีจีซี เมืองไทยประกันภัย คัพ” วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567สโมสร แม่โจ้ ยูไนเต็ด พบ สโมสรฟุตบอล ทีพีเอฟ อุตรดิตถ์  (สโมสรฟุตบอล ทีพีเอฟ อุตรดิตถ์  ร้องเรียนมา 1 เหตุการณ์)

- เหตุการณ์

ในนาทีที่ 28 ผู้เล่นหมายเลข 69 นายสิรวิชญ์ ชัยยะ สโมสรฟุตบอล ทีพีเอฟ อุตรดิตถ์ ได้ทุ่มบอลให้กับผู้เล่นหมายเลข 99 Mr. Timothy Chiemerie Okereke สโมสรฟุตบอล ทีพีเอฟ อุตรดิตถ์ ที่ยืนอยู่ในกรอบเขตโทษ และได้เตะบอลส่งต่อให้เพื่อน ซึ่งในจังหวะเดียวกันมีผู้เล่นหมายเลข 7 นายวิชิตนันท์ กรวยทอง สโมสรแม่โจ้ ยูไนเต็ด ที่ยืนอยู่ด้านหลังได้ใช้มือปัดลูกบอล แต่ผู้ตัดสินกลับไม่เป่าฟาล์วแฮนด์บอลและให้จุดโทษกับสโมสรฟุตบอลทีพีเอฟ อุตรดิตถ์ รวมทั้งผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 2 ที่อยู่กับเหตุการณ์ก็ไม่ได้แจ้งผู้ตัดสิน

- ผลพิจารณาโทษ  

ลงโทษนายบงกชเพชร เทียนสว่าง ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 6 สัปดาห์ เนื่องจากแขนของผู้เล่นหมายเลข 7 นายวิชิตนันท์ กรวยทอง สโมสรแม่โจ้ ยูไนเต็ด อยู่ในลักษณะของแขนที่กางออก ทำให้ร่างกายใหญ่ขึ้นโดยไม่เป็นธรรมชาติ รวมถึงได้มีการเคลื่อนมือไปหาลูกบอล ถือเป็นความผิดตามกติกาข้อ 12 Fouls and Misconduct  หน้า 106 Handling the ball ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นในเขตโทษต้องให้เตะโทษ ณ จุดโทษ

ลงโทษนางสาวทัศนีย์ เขื่อนเพชร ผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 2 สัปดาห์ เนื่องจากมีเหตุการณ์กระทำผิดกติกาชัดเจนในพื้นที่รับผิดชอบของผู้ช่วยผู้ตัดสิน แต่ไม่มีการยกธงแจ้งผู้ตัดสินว่ามีผู้กระทำผิดกติกา (พื้นที่ในเขตโทษ)

 

5. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการ “บีจีซี เมืองไทยประกันภัย คัพ” วันที่ 1 ธันวาคม 2567 คู่ระหว่างสโมสร มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ พบ สโมสร เอยูยู อินเตอร์ แบงค็อก  (สโมสรเอยูยู อินเตอร์ แบงค็อก ร้องเรียนมา 1 เหตุการณ์)

- เหตุการณ์

ในนาที 76 จากจังหวะที่ผู้รักษาประตูสโมสร มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ ออกมารับลูกบอลพลาด ทำให้ผู้เล่นหมายเลข 2 นายอัฟกานต์ เจ๊ะมะสาแล สโมสร เอยูยู อินเตอร์ แบงค็อก สามารถแย่งบอลไปได้ และกำลังเข้าไปทำประตู แต่ถูกผู้รักษาประตูสโมสรมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เข้ามาสกัดจากด้านหลัง ทำให้ผู้เล่นหมายเลข 2 นายอัฟกานต์ เจ๊ะมะสาแล สโมสร เอยูยู อินเตอร์ แบงค็อก ล้มลงในเขตประตูจนได้รับบาดเจ็บ แต่ผู้ตัดสินไม่กลับเป่าฟาล์วและให้จุดโทษกับสโมสร เอยูยู อินเตอร์ แบงค็อก แต่อย่างใด หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทีมสโมสร เอยูยู อินเตอร์ แบงค็อก ได้เข้ามาดูอาการนักกีฬาคนดังกล่าวที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทีมได้มีสอบถามผู้ตัดสินถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยผู้ตัดสินได้แจ้งว่า ผู้เล่นคนดังกล่าวล้มง่ายไป ซึ่งเจ้าหน้าที่ทีมเห็นว่าชี้แจงไม่มีเหตุผลอันควรและไม่เคลียร์จึงได้สอบถามอีก หลังจากนั้นผู้ตัดสินจึงทำการให้ใบแดงแก่เจ้าหน้าที่ทีมสโมสรเอยูยู อินเตอร์ แบงค็อก

- ผลพิจารณาโทษ

ลงโทษนายดัสกร หกลา ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขันตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (3) พักการปฏิบัติหน้าที่ 1 เดือน เนื่องจากพฤติกรรมของผู้รักษาประตูสโมสร มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ ใช้มือผลักผู้เล่นหมายเลข 2 นายอัฟกานต์ เจ๊ะมะสาแล สโมสร เอยูยู อินเตอร์ แบงค็อก ล้มลงในเขตโทษ ถือเป็นความผิดตามกติกาข้อ 12 Fouls and Misconduct หน้า 105 Direct free kick ที่ต้องให้เตะโทษโดยตรงแต่เหตุการณ์เกิดขึ้นในเขตโทษ จะต้องให้เตะโทษ ณ จุดโทษ  

ส่วนกรณีนี้เจ้าหน้าที่ทีมสโมสร เอยูยู อินเตอร์ แบงค็อก ที่ได้เข้ามาในสนามเพื่อดูอาการบาดเจ็บของผู้เล่น ได้แสดงการไม่เห็นด้วยจึงมีการคัดค้านการตัดสิน ผู้ตัดสินให้ใบแดง การคัดค้านการตัดสิน ความผิดนั้นเป็นเพียงแค่ใบเหลือง ตามกติกาข้อ 12 Fouls and Misconduct หน้า 115 Caution offences include  ความผิดที่ต้องถูกคาดโทษ (ใบเหลือง) ของเจ้าหน้าที่ทีม ลงโทษตามหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 3 สัปดาห์  รวมโทษนายดัสกร หกลา ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด พักการปฏิบัติหน้าที่ 1 เดือน 3 สัปดาห์

- ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันฯ

ข้อ 57. เจ้าหน้าที่การแข่งขัน ผู้ใดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับนี้ จะถูกลงโทษ ดังนี้

(1) ตักเตือน

(2) ภาคทัณฑ์

(3) พักการปฏิบัติหน้าที่ 1 เดือน

(4) พักการปฏิบัติหน้าที่ 3 เดือน

(5) พักการปฏิบัติหน้าที่ 6 เดือน

(6) พักการปฏิบัติหน้าที่ 1 ปี

(7) พักการปฏิบัติหน้าที่ 2 ปี 

(8) พักการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาที่กำหนด 

(9) พักการปฏิบัติหน้าที่ตลอดชีพ

การนับโทษในระหว่างฤดูกาลให้นับเฉพาะสัปดาห์ที่มีการแข่งขัน ตามปฏิทินการแข่งขันประจำฤดูกาลของสมาคมฯ ในกรณีที่สิ้นสุดฤดูกาลแข่งขันประจำฤดูกาลแล้ว ยังมีโทษติดค้างอยู่ ให้มีผลผูกพันถึงฤดูกาลถัดไป 

 

กรณีเหตุการณ์ไม่ปกติของการแข่งขันกีฬาฟุตบอล

1. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการเมืองไทย ลีก (ไทยลีก 2) วันที่ 7 ธันวาคม 2567 คู่ระหว่างสโมสร โปลิศ เทโร เอฟซี พบ สโมสร ชลบุรี เอฟซี


- เหตุการณ์

ในนาทีที่ 29 ผู้ตัดสินที่ 4 ได้ตรวจสอบใบรายชื่อเจ้าหน้าที่ทีมที่มีสิทธิ์นั่งในที่นั่งสำรองของสโมสร โปลิศ เทโร เอฟซี พบว่าไม่มีชื่อของนายจตุพร ประมลบาล อยู่ในเอกสารดังกล่าว ผู้ตัดสินที่ 4 จึงเชิญออกจากม้านั่งสำรอง และเกมดำเนินต่อจนจบการแข่งขัน 

- ผลพิจารณา

ลงโทษสโมสร โปลิศ เทโร เอฟซี ยอมให้บุคคลที่ไม่ได้มีชื่อแจ้งไว้ในรายชื่อเจ้าหน้าที่ผู้มีสิทธินั่งในที่นั่งนักกีฬาฟุตบอลสำรอง มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 3.3 ปรับเงิน 10,000 บาท แต่เนื่องจากเป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 2 จึงลงโทษปรับสองในสาม ปรับเงิน 6,666 บาท

- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ

ข้อ 3.3 ทีมใดยอมให้บุคคล ที่ไม่ได้มีชื่อแจ้งไว้ในรายชื่อเจ้าหน้าที่ผู้มีสิทธินั่งในที่นั่งนักกีฬาฟุตบอลสำรอง 9 คน ภายในเขตเทคนิค เข้าไปในเขตเทคนิคระหว่างการแข่งขัน จะถูกปรับเงินคนละ 10,000 บาท

กรณีที่บุคคลดังกล่าวไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทีม แต่ได้กระทำการอันเป็นความผิดตามที่กำหนดไว้ในหมวดของเจ้าหน้าที่ทีม ทีมจะต้องรับผิดเสมือนว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ทีมของทีมตนเอง โดยให้รับโทษตามที่กำหนดไว้ในหมวดเจ้าหน้าที่ทีม

 

ข่าวสารอื่นๆ

National Team Men

27 December 2024

ทีมชาติไทย บุกพ่าย ฟิลิปปินส์ 1-2 รอบรองชนะเลิศ นัดแรก ศึกอาเซียน คัพ 2024

ทีมชาติไทย บุกพ่าย ฟิลิปปินส์ 1-2 รอบรองชนะเลิศ นัดแรก ศึกอาเซียน คัพ 2024

National Team Men

26 December 2024

"มาซาทาดะ อิชิอิ" และ "ทิตาธร อักษรศรี" แถลงข่าวก่อนเกมทีมชาติไทย พบ ฟิลิปปินส์ รอบรองฯ นัดแรก

"มาซาทาดะ อิชิอิ" และ "ทิตาธร อักษรศรี" แถลงข่าวก่อนเกมทีมชาติไทย พบ ฟิลิปปินส์ รอบรองฯ นัดแรก

ร่วมงานกับเรา

26 December 2024

#ร่วมงานกับเรา! สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เปิดรับสมัคร "เจ้าหน้าที่จัดซื้อ" จำนวน 1 อัตรา

#ร่วมงานกับเรา! สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เปิดรับสมัคร "เจ้าหน้าที่จัดซื้อ" จำนวน 1 อัตรา