31 October 2023
1 ปีที่ผ่านมา
...ใครๆ ก็เล่นบอลได้ หาตัวเองให้เจอแล้วไปให้สุด
ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีเด็กเก่งๆ จำนวนมาก เรามีทั้งเด็กเรียนเก่งที่ได้โอลิมปิกวิชาการแทบทุกวิชา มีนักดนตรีอัจฉริยะรุ่นจิ๋ว มีกลุ่มเด็กที่สนใจเรื่องหุ่นยนต์และสร้างขึ้นมาได้จริงๆ ทั้งที่พวกเขายังเป็นเยาวชน มีจิตรกรน้อยที่ฝีมือระดับฝรั่งทึ่งทั้งโลก และแน่นอนว่าปฏิเสธไม่ได้ ว่าเด็กชายหญิงจำนวนหนึ่งเกิดมาพร้อมพรสวรรค์ด้านกีฬาฟุตบอล
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีเด็กมากมายที่อาจจะไม่ได้มีพรสวรรค์ด้านฟุตบอลติดตัวมาแต่แรก แต่มีศักยภาพการเพิ่มพูนทักษะอย่างรวดเร็ว บางคนมองแล้วทำตามได้เลย หรือบางคนได้รับคำแนะนำเพียงเล็กน้อย ฝึกฝนไม่นาน ก็สามารถทำได้ และกล้ามเนื้อจดจำวิธีการเคลื่อนไหว เทคนิคต่างๆ ได้ทันที หรือในที่สุด เด็กจำนวนมากที่ไม่มีทั้งพรสวรรค์และทักษะการฝึกได้อย่างรวดเร็ว แต่เป็นเด็กที่เปี่ยมไปด้วยความฝัน พยายามพุ่งไปบนเส้นทางที่จะนำไปสู่ฝันนั้นด้วยความพากเพียร ขยัน อดทน มีวินัย
ปัญหาคือ เด็กที่มีอยู่มากเหล่านี้ ไม่เคยได้รับโอกาสในการพัฒนา ไม่ถูกมองเห็น ไม่มีใครส่งเสริม ไม่เคยมีโอกาสลงสนามแข่งจริง พรสวรรค์ พรแสวง ศักยภาพ ทักษะ ความสามารถ และหรือความสามารถพิเศษที่มีต้องหยุดชะงักและหายไปอย่างน่าเสียดาย และว่ากันว่า ความสามารถพิเศษ ความเป็นอัจฉริยะ หรือพรสวรรค์ของเด็ก ถ้าไม่ได้รับการส่งเสริมเลย มันจะค่อยๆ ลดลงก่อนที่พวกเขาและเธอจะก้าวเข้าสู่วัยรุ่น และเลือนหายไปจนหมดในวัยผู้ใหญ่
Grassroots ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักของโครงการ Grow Together ที่ได้รับการสนับสนุน และกำกับดูแลจากผู้เชี่ยวชาญจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA ภายใต้แนวคิด FIFA Talent Development Scheme และเป็นหนึ่งในระบบ Thai's Football Ecosystem โดย อาร์แซน แวงแกร์ ประธานพัฒนาเทคนิคของ FIFA และอดีตผู้จัดการทีมอาร์เซนอล ออกแบบและพัฒนาจนได้มาตรฐาน ซึ่งประเทศไทยเป็น “ประเทศแรก” ที่ FIFA มอบระบบนี้มาให้วางรากฐา
Grassroots มีภารกิจหลักคือการมอบ “โอกาส” ให้เยาวชนไทย ในการเข้าถึงกีฬาฟุตบอลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ไม่จำกัดเพศ อายุ ตลอดจนปัจจัยความต่างใดๆ ก็ตาม
ซึ่งตามมาตรฐานของ AFC ได้กำหนดกฎเกณฑ์และปรัชญาของฟุตบอลระดับพื้นฐาน Grassroots Philosophy ที่มุ่งเน้นในส่วนของการให้โอกาส และความปลอดภัยของเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรม ดังนี้
1. ทุกคนมีโอกาสได้ลงเล่น คือ การให้โอกาสไม่ว่าคุณจะเก่งหรือไม่เก่งต่างได้รับโอกาสเท่ากัน
2. ฟุตบอลอยู่ในทุกๆ ที่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็เล่นฟุตบอลได้หมด
3. ไม่มีการแบ่งแยก ต้องทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันในการฝึกซ้อม
4. กิจกรรมต้องต่อเนื่อง สนุกและตื่นเต้น
5. ความปลอดภัยต้องมาก่อน ปลอดภัยต่อเด็กทั้งทางร่างกายและสภาพจิตใจด้วย
6. ให้ความสำคัญกับผู้เล่นก่อนเสมอ
7. สอนให้รู้จักเคารพสิ่งรอบตัว ที่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการเข้าสังคม
8. ความสัมพันธ์ การทำงานเป็นทีม
Grassroots Value : เป้าประสงค์หลักของกิจกรรมนี้ ต้องการให้ผู้เข้าร่วมได้รับสิ่งเหล่านี้
Enjoy ความสนุกสนาน
Respect ความเคารพ
Fair ความเท่าเทียม
Share การแบ่งปัน
เป็นที่น่าดีใจว่า ในระยะเวลา 8 ปี ตลอด 2 สมัยที่ พล.ต.อ. ดร.สมยศ นั่งเก้าอี้ดูแลบอลไทย บริบทสังคมนักฟุตบอลไทยได้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากมาย ตามกระแสโลกและข่าวสารที่เข้าถึงง่ายกว่าเดิมมาก กีฬาฟุตบอลกลายเป็นที่นิยมมากขึ้น และภาพจำของฟุตบอลที่เดิมพ่อแม่ผู้ปกครอง ให้เล่นเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เป็นการออกกำลังกาย เป็นงานอดิเรกเชิงบวกที่ลดอัตราการติดยาเสพติดหรือมั่วสุม กลายเป็นภาพของนักกีฬาอาชีพที่สร้างอนาคตได้ เปิดโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาในทุกระดับด้วยทุนนักกีฬา เปิดโอกาสให้ทำมาหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ รวมถึงโอกาสในการเข้าทำงานในบางองค์กรหรือหน่วยงานราชการ เป็นต้น หรือแม้กระทั่ง “ฟุตบอลหญิง” ที่มีอยู่ มีมาตลอด แต่สปอตไลท์ไม่เคยส่องไปถึง ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ฟุตบอลหญิงตลอดจนโค้ชหญิง มีบทบาทมากขึ้น และทำผลงานได้ดีจนน่าจับตา และนั่นทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานไม่ว่าจะเพศอะไร ที่สนใจกีฬาฟุตบอล สนับสนุนอย่างจริงจังมากขึ้น หลายครอบครัวที่มีเงินก็ส่งลูกไปเรียน จ้างครูมาสอน เพราะสถานะทางสังคมที่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะ “มี” เท่ากัน จึงกลายเป็นพันธกิจของสมาคมฯ ที่จะสร้างความทั่วถึงและเท่าเทียมนี้ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม
สิ่งที่เป็นกิจกรรมของ Grassroots คือการแนะนำและฝึกสอนฟุตบอลให้แก่เยาวชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยใช้วิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมฯ ภายใต้คำแนะนำของ FIFA โดยจะเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยทั้งชายและหญิงที่สนใจ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกีฬาฟุตบอลของเยาวชนไทยให้มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวคิด Talent Development Scheme ของ FIFA ที่ว่า "Give everybody a chance to play"
จากคำศัพท์ว่า “Grassroots Football” เมื่อแปลตรงตัวจะหมายถึง ฟุตบอลในระดับเริ่มต้น ตามหลักสูตรแล้วอาจหมายถึงอายุ 6 - 12 ปี แต่ Grassroots ของโครงการ “Grow Together” กินความหมายกว้างกว่านั้น ครอบคลุมกว่านี้ เพราะเราเปิดกว้างสำหรับ “ทุกคน” ที่อยากเล่นฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็น เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ โดยไม่แบ่งแยกอายุ เชื้อชาติ สีผิว ไม่แบ่งชายหรือหญิง แต่ทุกคนสามารถเล่นฟุตบอลร่วมกันได้ สามารถเตะบอลอย่างสนุก หรือรับคำแนะนำ พัฒนาทักษะไปด้วยกันได้ อย่างอิสระและเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่ง “Grow Together” เชื่อว่านี่คือความเท่าเทียมและทั่วถึงอย่างแท้จริง
Grassroots อาจจะปลุกความมีสายเลือดฟุตบอลในตัวเด็กเล็ก อาจจะทำให้วัยรุ่นค้นหาตัวเองเจอว่าชอบอะไร หรือสายฝันผู้ใหญ่ที่เคย “พลาดโอกาส” เคยทำความฝันและวัยเด็กหล่นหาย ได้กลับมาเติมเต็มความฝันกับ “โอกาส” ในครั้งนี้จาก Grassroots
นอกจาก Grassroots ทำให้คนไม่หลงลืม “ความสนุก” ของฟุตบอล และมีโอกาสได้เล่นฟุตบอลจริงๆ ได้รับคำแนะนำจากมืออาชีพแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ Grassroots ได้ขับเคลื่อนฟุตบอลไทยไปสู่อนาคต เพราะเมื่อมีเด็กชาย เด็กหญิง วัยรุ่น ผู้ใหญ่ สมัครลงทะเบียนกับสมาคมฯ ร่วมกิจกรรม Grassroots แล้ว พวกเขาและพวกเธอเหล่านั้นอาจจะอยากต่อยอด บางคนพบพรสวรรค์ บางคนพบตัวเอง บางคนมีแววจนทีมเฟ้นหานักฟุตบอล (Scout) ติดตามต่อไปและพาเข้าสู่วิถีนักบอลตัวจริง พาไปร่วมลงแข่งหลายๆ ครั้งเสริมประสบการณ์ ส่งเสริมให้เข้าอคาเดมี ซึ่งเหล่านี้คือการเพิ่มจำนวนประชากรนักฟุตบอล และเพิ่มบุคลากรในวงการฟุตบอลให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อยกระดับและพัฒนาวงการฟุตบอลให้ยั่งยืน
Grassroots คือกิจกรรมที่ให้ทุกคนพิสูจน์ตัวเองว่า “ใครๆ ก็เล่นฟุตบอลได้” เป็นเสมือน “ประตูบานแรก” ที่อาจจะพาหลายๆ คนไปสู่ “ประตูบานใหญ่” ที่เรียกว่า “นักฟุตบอลอาชีพ” ในอนาคต ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมไม่จำเป็นต้องเตะบอลเก่ง เคยลงแข่ง ขอแค่มีใจรักอยากเล่น ก็เข้าร่วมกิจกรรมได้ นอกจากนี้ Grassroots ยังส่งเสริมในมิติของโค้ช สต๊าฟโค้ช ตลอดจนบุคคลที่ทำงานรอบๆ วงการฟุตบอล เพราะทุกฝ่ายคือกลจักรฟันเฟืองสำคัญในการที่จะพาฟุตบอลไทยจะเดินไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน
Grassroots ไม่ได้ช่วยให้คนอยากเล่นฟุตบอลได้เล่น ไม่ได้ช่วยให้คนอยากพัฒนาได้รับการโค้ชจากโค้ชมืออาชีพเท่านั้น แต่นี่คือโอกาสที่ดีในการการปลูกฝังทัศนคติ วินัย น้ำใจนักกีฬา การรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย มิตรภาพทั้งในสนามและนอกสนาม การเคารพซึ่งกันและกันอย่างไม่เลือกเพศ คุณวุฒิ และวัยวุฒิ แลกเปลี่ยนแนวคิดดีๆ ตลอดจนแนะนำเส้นทางการดำเนินชีวิตบนถนนสายฟุตบอลซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นรากฐานที่สำคัญและจำเป็นสำหรับฟุตบอลไทยในอนาคตที่จะถูกพัฒนาก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง
เพราะเราจะพบนักเตะใหม่ๆ มากขึ้น คนเหล่านี้จะเข้าถึงโอกาสการได้เล่น ได้ฝึก และเข้าใกล้ความเป็น “นักฟุตบอลอาชีพ” ในระดับที่พวกเขาและพวกเธอต้องการ ได้รับการฝึกจากมืออาชีพ บนทัศนคติเชิงบวกที่สำคัญไม่แพ้ทักษะกีฬา เพราะนักกีฬาอาจจะฝึกจนเก่งแล้วหยุดเมื่อคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว แต่นักกีฬาที่มีทัศนคติที่ดี จะฝึกต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง พัฒนาตนเองแบบที่ทะลุขีดความสามารถที่ตัวเองคิด และค้นพบความมหัศจรรย์ในความสามารถของตัวเองได้จากทัศนคติเชิงบวกและเปิดรับคำแนะนำอยู่เสมอนั่นเอง
Grassroots สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาวงการฟุตบอลในประเทศที่มีความเจริญในด้านฟุตบอล ล้วนให้ความสำคัญกับฟุตบอลขั้นพื้นฐานทั้งสิ้น เพราะพวกเขารู้ว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เด็กๆ มีความหลงใหลในกีฬาฟุตบอล
Grassroots ได้รับความนิยมจากคนที่รักฟุตบอลทุกเพศทุกวัยอย่างล้นหลาม สถิติการเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ
สถิติ “ผู้เล่น” ที่เข้าร่วมโครงการฯ
· ปี 2019 มีผู้เข้าร่วม 1,000 คน
· ปี 2020 มีผู้เข้าร่วม 1,300 คน
· ปี 2021 มีผู้เข้าร่วม 1,500 คน
· ปี 2022 มีผู้เข้าร่วม 1,900 คน
· ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2022 - ส.ค. 2023 มีผู้เข้าร่วมพุ่งไปมากกว่า 7,100 คน รวมแล้วมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 9,003คน แบ่งเป็น ผู้เล่นชาย 8,308 คน และผู้เล่นหญิง 965 คน
สถิติโค้ชและบุคลากรอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการ
· ปี 2019 มีผู้เข้าร่วม 70 คน
· ปี 2020 มีผู้เข้าร่วม 170 คน
· ปี 2021 มีผู้เข้าร่วม 200 คน
· ปี 2022 มีผู้เข้าร่วม 300 คน
· ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2022 - ส.ค. 2023 มีผู้เข้าร่วมพุ่งไปมากกว่า 1,700 คน รวมแล้วมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 2,045 คน
สรุปรวมทั้งสิ้นตั้งแต่จัดกิจกรรม Grassroots มีผู้เล่น โค้ช และบุคลากรอาสาสมัคร จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย มีโอกาสเข้าถึงการเล่นฟุตบอล ความสุข สนุกสนาน การได้รับการฝึกทักษะ การได้โอกาสปล่อยฝีไม้ลายมือ ทั้งสิ้น ตั้งแต่ปี 2019 จนกระทั่งสิงหาคม 2023 รวมทั้งสิ้นถึง 11,048 ชีวิต
จากการเริ่มต้นที่มุ่งมั่ง สู่การดำเนินงานที่ได้รับการตอบรับอย่างงดงาม เชื่อแน่ว่าในอนาคต หากยังคงดำเนินโครงการต่อไป ย่อมจะเพิ่มจากหลักหมื่น เป็นหลักแสน และไปถึงหลักล้านได้ และในจำนวนนี้จะมีอนาคตของเหล่าทีมชาติทั้งชาย - หญิงในทุกช่วงอายุรุ่นอยู่อย่างแน่นอน
Futsal & Beach Soccer
14 January 2025
ประกาศ : รายชื่อ 19 แข้ง ฟุตบอลชายหาดทีมชาติไทย ชุดเตรียมสู้ศึก AFC Beach Soccer Asian Cup 2025
Announcement
14 January 2025
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ครั้งที่ 22 ประจำฤดูกาล 2567/68
Futsal & Beach Soccer
13 January 2025
"ธนาธร สันทนาประสิทธิ์" ให้สัมภาษณ์หลังเกม ฟุตซอลหญิงไทย พบ ปาเลสไตน์ ในศึกชิงแชมป์เอเชีย รอบคัดเลือก