22 January 2025

2 เดือนที่ผ่านมา

สรุปผลการประชุมคณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ครั้งที่ 23 ประจำฤดูกาล 2567/68

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท จัดประชุม ครั้งที่ 23 ประจำฤดูกาล 2567/68 โดยมี นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ เป็นประธาน

กรณีเหตุการณ์ไม่ปกติของการแข่งขันกีฬาฟุตบอล

1. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 3 วันที่ 18 มกราคม 2568 คู่ระหว่างสโมสร BFB พัทยา ซิตี้ พบ สโมสร ฉะเชิงเทรา ไฮเทค เอฟซี

- เหตุการณ์
1) ในนาทีที่ 90+4 ได้มีการกระทบกระทั่งกันในสนาม ผู้ตัดสินเป่าเป็นจังหวะการกระทำฟาวล์ปกติ แต่มีกองเชียร์สโมสร BFB พัทยา ซิตี้ ใส่เสื้อสีแดงกระโดดข้ามผ่านรั้วกั้น ฝั่งตรงข้ามอัฒจันทร์หลัก เข้ามาในสนามประมาณ 10-15 เมตร เข้ามาชี้หน้าผู้เล่นสโมสร ฉะเชิงเทรา ไฮเทค เอฟซี และจะเข้ามาหาเรื่องในสนาม เหตุจูงใจที่ทำให้เข้ามาในสนามคือไม่พอใจพฤติกรรมผู้เล่นสโมสร ฉะเชิงเทรา ไฮเทค เอฟซี โดยการ์ดและเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้าไประงับเหตุนำกองเชียร์นั้นออกนอกสนาม 

2) ในนาทีที่ 45+3 สโมสร ฉะเชิงเทรา ไฮเทค เอฟซี ได้เตะลูกฟรีคิกเข้ามาในเขตโทษของสโมสร BFB พัทยา ซิตี้ ผู้เล่นหมายเลข 32 สโมสรฉะเชิงเทราฯ ได้โหม่งบอลเสย แล้วผู้เล่นหมายเลข 13 สโมสร ฉะเชิงเทราฯ ได้สัมผัสบอล แล้วบอลได้ไปถึงผู้เล่นหมายเลข 9 ได้แปบอลยิงประตูเข้าไป ระหว่างนั้นผู้ตัดสินได้ทำการสื่อสารกับผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 1 ว่าบอลได้สัมผัสมาจากผู้เล่นฝ่ายเดียวกัน ก่อนที่ผู้เล่นหมายเลข 9 จะยิงประตูเข้าไปหรือไม่ ผู้ตัดสินได้แจ้งกับผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 1 เห็นว่าได้มีการสัมผัสบอลจากผู้เล่นฝ่ายเดียวกัน ผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 1 ได้ทำการยกล้ำหน้า เนื่องจากบอลได้มาสัมผัสกับผู้เล่นหมายเลข 9 ซึ่งอยู่ในตำแหน่งล้ำหน้า ผู้ตัดสินจึงตัดสินให้เป็นการล้ำหน้าและไม่เป็นประตู หลังจากเป่าจบเกมในครึ่งเวลาแรก ได้มี นาย สุรพงษ์ กลัดสุขใส เจ้าหน้าที่ทีม สโมสร ฉะเชิงเทราฯ เป็นเจ้าหน้าที่ทีมที่มีชื่อในใบรายชื่อ แต่ไม่ได้มีรายชื่อลงทำหน้าที่ในนัดดังกล่าว ได้ลงไปในสนามเพื่อสอบถามการตัดสิน เกิดอาการไม่พอใจในการตัดสิน จึงได้ด่าผู้ตัดสิน ผู้ตัดสินทำการให้ใบแดง จากนั้นนายสุรพงษ์ ได้เข้ามาถีบผู้ตัดสินโดนบริเวณหน้าขาแต่ไม่ได้รับบาดเจ็บ 

- ผลพิจารณาโทษ
1) ลงโทษกองเชียร์สโมสร BFB พัทยา ซิตี้ ผ่านรั้วกั้นรอบสนามเข้าไปในสนามแข่งขันหรือพื้นที่รอบสนามแข่งขัน ระหว่างการแข่งขัน โดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 4.2 ปรับเงิน 20,000 บาท แต่เป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 3 จึงลงโทษปรับหนึ่งในสี่ ปรับเงิน 5,000 บาท

2) ลงโทษนายสุรพงษ์ กลัดสุขใส เจ้าหน้าที่ทีม สโมสร ฉะเชิงเทรา ไฮเทค เอฟซี เจตนาทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่การแข่งขัน มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 2.8 (1) ปรับเงิน 60,000 บาท และถูกพักการทำหน้าที่ 3 เดือน เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำต่อเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ให้เพิ่มโทษจากเดิมเป็น 2 เท่า จึงเพิ่มโทษปรับเงิน เป็นปรับเงิน 120,000 บาท แต่เป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 3 จึงลงโทษปรับหนึ่งในสี่ ปรับเงิน 30,000 บาท และเพิ่มโทษถูกพักการทำหน้าที่เป็น 6 เดือน

- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
ข้อ 2.8 กรณีทำร้ายร่างกายบุคคลใด แต่ละกรณีมีโทษดังนี้

(1) ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้ถูกทำร้าย ปรับเงินตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 60,000 บาท และถูกพักการทำหน้าที่ 3 เดือน

โทษตามข้อ (1) ถึง (3) หากเป็นการกระทำต่อเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ให้เพิ่มโทษจากเดิมเป็น 2 เท่า เว้นแต่ข้อ (4) เพิ่มแต่เฉพาะค่าปรับขึ้นจากเดิมเป็น 2 เท่า เท่านั้น

ข้อ 4.2 บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด ผ่านรั้วกั้นรอบสนามเข้าไปในบริเวณพื้นที่รอบสนามแข่งขัน หรือเข้าไปในสนามแข่งขัน  ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากการแข่งขัน โดยไม่ได้รับอนุญาต จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 50,000 บาท

2. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 3 วันที่ 19 มกราคม 2568 คู่ระหว่างสโมสร หัวหิน ซิตี้ พบ สโมสร หัวหิน มาราเลน่า เอฟซี

- เหตุการณ์
เริ่มการแข่งขันช้ากว่า Official Countdown ไป 2 นาที (เริ่มการแข่งขันเวลา 16.32 น.) จากสาเหตุที่สโมสร หัวหิน ซิตี้ ออกจากห้องพักนักกีฬาช้า โดยผู้ควบคุมการแข่งขันได้ไปตามถึงสองครั้ง และเมื่อเดินลงสู่สนามได้มีการบูมและเดินไปทักทายกองเชียร์บนอัฒจันทร์ทั้งสองฝั่ง เป็นเหตุทำให้เริ่มการแข่งขันล่าช้า 2 นาที ไม่เป็นไปตามเวลาที่กำหนด

- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษสโมสร หัวหิน ซิตี้ ไม่ทำตามกำหนดการขั้นตอนและการนับเวลาถอยหลัง (OFFICIAL COUNTDOWN) มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 3.6 เป็นความผิดครั้งแรก จึงลงโทษเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรว่าให้สโมสรปฏิบัติตามกำหนดการขั้นตอนและการนับเวลาถอยหลังอย่างเคร่งครัด และ/หรือ ชดใช้ค่าเสียหายให้กับสมาคม (ถ้ามี)

- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
ข้อ 3.6 ต้องทำตามกำหนดการ ขั้นตอน และการนับเวลาถอยหลัง (OFFICIAL COUNTDOWN) ภายในระยะเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นจะเป็นความผิด ไม่ว่าจะเริ่มการแข่งขันในเวลาได้หรือไม่ก็ตาม 

ครั้งแรก เตือนเป็นลายลักษณ์อักษร และ/หรือ ชดใช้ค่าเสียหายให้กับสมาคม (ถ้ามี)
ครั้งต่อไป จะถูกปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 60,000 บาท และ/หรือ ชดใช้ค่าเสียหายให้กับสมาคม (ถ้ามี)

3. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 3 วันที่ 19 มกราคม 2568 คู่ระหว่างสโมสร สมุทรสงคราม ซิตี้ พบ สโมสร ทัพหลวง ยูไนเต็ด

- เหตุการณ์
สโมสร ทัพหลวง ยูไนเต็ด ไม่มีหัวหน้าผู้ฝึกสอน ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการจัดการแข่งขัน ข้อ 33.3 การส่งรายชื่อเจ้าหน้าที่ทีมในแต่ละนัด แต่ละสโมสรจะสามารถส่งรายชื่อได้ไม่เกิน 9 คน โดยหัวหน้าผู้ฝึกสอน จะเป็นตำแหน่งบังคับให้ทำหน้าที่ในเขตเทคนิค

- ผลพิจารณาโทษ
ให้เตือน สโมสร ทัพหลวง ยูไนเต็ด ตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 ระเบียบว่าด้วยการลงโทษวินัย มารยาท สำหรับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพ และรายการกีฬาฟุตบอลอื่น ๆ ของสมาคม ดังที่ระบุกำหนดไว้ว่า “...องค์คณะตุลาการ อาจพิจารณาลงโทษด้วยการเตือนได้ แม้ว่าระเบียบการลงโทษในเรื่องนั้น ๆ จะไม่ได้กำหนดโทษเตือนไว้ก็ตาม” โดยขอให้สโมสรเร่งดำเนินการให้มีหัวหน้าผู้ฝึกสอนทำหน้าที่ในเขตเทคนิคในการแข่งขันนัดถัดไป มิเช่นนั้น จะมีความผิดตามระเบียบฯ ที่เกี่ยวข้อง ต่อไป

- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
บทที่ 3 ระเบียบว่าด้วยการลงโทษวินัย มารยาท สำหรับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพ และรายการกีฬาฟุตบอลอื่น ๆ ของสมาคม ดังที่ระบุกำหนดไว้ว่า “...องค์คณะตุลาการ อาจพิจารณาลงโทษด้วยการเตือนได้ แม้ว่าระเบียบการลงโทษในเรื่องนั้น ๆ จะไม่ได้กำหนดโทษเตือนไว้ก็ตาม”
 
ข้อ 3.27 ทีมใดหัวหน้าผู้ฝึกสอนไม่มาปฏิบัติหน้าที่ในวันแข่งขัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร จะถูกปรับเงิน 10,000 บาท

4. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการ เมืองไทย ลีก (ไทยลีก 2)

- เหตุการณ์
สโมสร สมุทรปราการ ซิตี้ ไม่ดำเนินการใด ๆ ให้ทีมพร้อมสำหรับการแข่งขันต่อในเลกที่ 2 และไม่มีการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อฝ่ายจัดการแข่งขันให้รับทราบถึงสถานการณ์ของสโมสร จนเป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 บริษัท ไทยลีก จำกัด ได้ออกหนังสือแจ้งทุกสโมสรระงับโปรแกรมการแข่งขันของสโมสร สมุทรปราการ ซิตี้ ออกไป ประกอบกับการถูกสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ห้ามขึ้นทะเบียนนักกีฬาฟุตบอลเพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 สโมสร สมุทรปราการ ซิตี้ ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาตามคำสั่งของฟีฟ่าจนล่วงเลยระยะเวลาขึ้นทะเบียนในช่วงที่ 2 ที่ปิดรับขึ้นทะเบียนในวันที่ 17 มกราคม 2568 ทำให้สโมสร สมุทรปราการ ซิตี้ ไม่มีนักกีฬาฟุตบอลเพียงพอสำหรับการแข่งขันจนจบฤดูกาล 2567/68  หากปล่อยไว้จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมในการจัดการแข่งขันของสมาคมและสโมสรที่เข้าร่วมการแข่งขัน 

- ผลพิจารณาโทษ
คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท อาศัยความตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับลักษณะการปกครองฯ หมวดที่ 5 ข้อ 68.3 และหมวดที่ 6 ข้อ 70.3.11 มีมติเอกฉันท์ ลงโทษสโมสร สมุทรปราการ ซิตี้ ตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษวินัย มารยาท บทที่ 3 หมวดที่ 1 ลักษณะโทษ ข้อ 2.12 ปรับให้ออกจากการแข่งขัน ประกอบกับ ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการ ไทยลีก 2 บทที่ 3 ข้อ 9.1 ให้ปรับสโมสร สมุทรปราการ ซิตี้ ออกจากการแข่งขัน พร้อมชดใช้เงินจำนวน 2,000,000 บาท (สองล้านบาทถ้วน) รวมทั้งชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแก่สมาคม หรือผู้ร้อง และต้องส่งเงินสนับสนุนที่ได้รับไปแล้วทั้งหมดคืน และให้ยกเลิกผลการแข่งขันของทีมทั้งหมด และจะต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกภาพของสมาคม ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับลักษณะการปกครอง 

โดยการยกเลิกผลการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการ ไทยลีก 2 ในฤดูกาล 2567/68 ทั้งหมดของสโมสร สมุทรปราการ ซิตี้ นั้น ให้ บริษัท ไทยลีก จำกัด เป็นผู้ดำเนินการยกเลิก และแจ้งฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

นอกจากนี้ อาศัยความตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับลักษณะการปกครองฯ หมวดที่ 5 ข้อ 68.4  คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท จึงมีมติเอกฉันท์ ให้เสนอสภากรรมการ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ พิจารณาถอดถอนสโมสรสมุทรปราการ ซิตี้ จากการเป็นสมาชิกภาพของสมาคม อันเนื่องมาจากการฝ่าฝืนข้อบังคับและระเบียบฯ ดังกล่าวข้างต้น ต่อไป

พิจารณาเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน

1. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการ “บีจีซี เมืองไทยประกันภัย คัพ” วันที่ 11 มกราคม 2568 คู่ระหว่างสโมสร พิษณุโลก เอฟซี พบ สโมสร ลพบุรี ซิตี้  (สโมสร ลพบุรี ซิตี้ ร้องเรียนมา 2 เหตุการณ์) 

- เหตุการณ์ที่ 1
ในนาทีที่ 4 จากจังหวะที่ผู้เล่นหมายเลข 25 Mr. EKENE VICTOR AZIKE สโมสร พิษณุโลก เอฟซี ได้พยายามที่สกัดลูกบอลนั้น ลูกบอลได้ไปสัมผัสโดนแขนขวาของผู้เล่นคนดังกล่าวในกรอบเขตโทษ ซึ่งผู้ตัดสินไม่ได้มีการเป่าฟาล์วแฮนด์บอลและไม่ได้ให้จุดโทษแก่สโมสร ลพบุรี ซิตี้ แต่อย่างใด 

- ผลพิจารณาโทษ
พฤติกรรมของผู้เล่นหมายเลข 25 Mr. EKENE VICTOR AZIKE สโมสร พิษณุโลก เอฟซี ในจังหวะที่พยายามจะเตะลูกบอลนั้น ซึ่งจังหวะก่อนหน้าได้มีผู้เล่นหมายเลข 44 นายอภิสิทธิ์ เสมอเหมือน สโมสร ลพบุรี ซิตี้ กระโดดใช้เท้ายันไปที่ลูกบอล ทำให้ลูกบอลไปถูกแขนขวาของผู้เล่นหมายเลข 25 Mr. EKENE VICTOR AZIKE สโมสร พิษณุโลก เอฟซี โดยแขนของผู้เล่นคนดังกล่าวอยู่ในลักษณะที่เป็นปกติของการเล่นทั่วไป ไม่มีการเคลื่อนแขนเข้าหาลูกบอลในลักษณะที่เป็นการเจตนาใช้มือเล่นลูกบอล ไม่ถือว่าเป็นการกระทำผิด ตามกติกาข้อ 12 Fouls and Misconduct หน้า 106 Handling the ball เกี่ยวกับการเล่นลูกบอลด้วยมือ ผู้ตัดสินให้การเล่นดำเนินต่อไป ถือว่านายจิรวัฒน์ ชมภูศรี ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้อง

- เหตุการณ์ที่ 2
ในนาทีที่ 89 ผู้เล่นหมายเลข 4 นายกฤษณะ จำเนียรการ สโมสร ลพบุรี ซิตี้ ได้เข้าถึงลูกบอลก่อน และเจตนาเข้าสกัดลูกบอล โดยไม่ได้มีเจตนายกเท้าสูงใส่ผู้เล่นหมายเลข 27 นายรัฐพล หอมมาลา สโมสร พิษณุโลก เอฟซี แต่อย่างใด ซึ่งผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 2 ได้มีการสะบัดธงแจ้งกับผู้ตัดสินว่า ผู้เล่นหมายเลข 4 นายกฤษณะ จำเนียรการ สโมสร ลพบุรี ซิตี้ เป็นผู้ทำฟาล์ว ผู้ตัดสินจึงเป่าฟาล์ว จากจังหวะนี้เป็นเหตุทำให้สโมสร ลพบุรี ซิตี้ เสียลูกตั้งเตะและเสียประตูในจังหวะต่อมา

- ผลพิจารณาโทษ

1) ลงโทษนายจิรวัฒน์ ชมภูศรี ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 2 เดือน เนื่องจากการชนปะทะกันของผู้เล่นทั้งสอง เกิดจากการเข้าแย่งชิงลูกบอลที่เป็นปกติทั่วไป โดยผู้เล่นหมายเลข 4 นายกฤษณะ จำเนียรการ สโมสร ลพบุรี ซิตี้ ได้เตะลูกบอลก่อน ประกอบกับผู้เล่นหมายเลข 27 นายรัฐพล หอมมาลา สโมสร พิษณุโลก เอฟซี ได้วิ่งเข้ามา ทำให้เกิดการชนปะทะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ได้มีการกระทำผิดของผู้เล่นทั้งสอง การที่ผู้ตัดสินเป่าฟาล์วตามการยกธงแจ้งของผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 2 ถือว่าตัดสินไม่ถูกต้อง และจากการเริ่มเล่นครั้งนี้ ทำให้สโมสร ลพบุรี ซิตี้ เสียประตู จึงทำให้มีผลต่อการแข่งขัน

2) ลงโทษนายมีชัย ทั่งหิรัญ ผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 3 สัปดาห์ เนื่องจากให้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริงแก่ทีมผู้ตัดสินด้วยกัน

- ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันฯ

ข้อ 57. เจ้าหน้าที่การแข่งขัน ผู้ใดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับนี้ จะถูกลงโทษ ดังนี้
          (1) ตักเตือน
          (2) ภาคทัณฑ์
          (3) พักการปฏิบัติหน้าที่ 1 เดือน
          (4) พักการปฏิบัติหน้าที่ 3 เดือน
          (5) พักการปฏิบัติหน้าที่ 6 เดือน
          (6) พักการปฏิบัติหน้าที่ 1 ปี
          (7) พักการปฏิบัติหน้าที่ 2 ปี 
          (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาที่กำหนด 
          (9) พักการปฏิบัติหน้าที่ตลอดชีพ

การนับโทษในระหว่างฤดูกาลให้นับเฉพาะสัปดาห์ที่มีการแข่งขัน ตามปฏิทินการแข่งขันประจำฤดูกาลของสมาคมฯ ในกรณีที่สิ้นสุดฤดูกาลแข่งขันประจำฤดูกาลแล้ว ยังมีโทษติดค้างอยู่ ให้มีผลผูกพันถึงฤดูกาลถัดไป 

ข่าวสารอื่นๆ

Organization

10 April 2025

กำหนดการประชุมสภากรรมการ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ประจำปี 2568

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กำหนดวันประชุมสภากรรมการ ประจำปี พ.ศ. 2568 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาและติดตามความคืบหน้าของภารกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการและพัฒนาวงการกีฬาฟุตบอลไทยอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

Development

10 April 2025

ประกาศ : รายชื่อผู้ฝึกสอนที่ ผ่านการอบรมหลักสูตร เอ ไลเซนส์ ประจำปี 2567

ประกาศ : รายชื่อผู้ฝึกสอนที่ ผ่านการอบรมหลักสูตร เอ ไลเซนส์ ประจำปี 2567

National Team Men

10 April 2025

"จเด็จ มีลาภ" ให้สัมภาษณ์หลังเกมทีมชาติไทย U17 พบ จีน U17 นัดสุดท้ายของศึกชิงแชมป์เอเชีย 2025 รอบสุดท้าย

จเด็จ มีลาภ หัวหน้าผู้ฝึกสอนฟุตบอลชายทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ให้สัมภาษณ์หลังการแข่งขันฟุตบอล ชิงแชมป์เอเชีย 2025 รอบสุดท้าย นัดที่สาม