22 January 2025
10 ชั่วโมงที่ผ่านมา
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ครั้งที่ 23 ประจำฤดูกาล 2567/68
เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท จัดประชุม ครั้งที่ 23 ประจำฤดูกาล 2567/68 โดยมี นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ เป็นประธาน
กรณีเหตุการณ์ไม่ปกติของการแข่งขันกีฬาฟุตบอล
1. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 3 วันที่ 18 มกราคม 2568 คู่ระหว่างสโมสร BFB พัทยา ซิตี้ พบ สโมสร ฉะเชิงเทรา ไฮเทค เอฟซี
- เหตุการณ์
1) ในนาทีที่ 90+4 ได้มีการกระทบกระทั่งกันในสนาม ผู้ตัดสินเป่าเป็นจังหวะการกระทำฟาวล์ปกติ แต่มีกองเชียร์สโมสร BFB พัทยา ซิตี้ ใส่เสื้อสีแดงกระโดดข้ามผ่านรั้วกั้น ฝั่งตรงข้ามอัฒจันทร์หลัก เข้ามาในสนามประมาณ 10-15 เมตร เข้ามาชี้หน้าผู้เล่นสโมสร ฉะเชิงเทรา ไฮเทค เอฟซี และจะเข้ามาหาเรื่องในสนาม เหตุจูงใจที่ทำให้เข้ามาในสนามคือไม่พอใจพฤติกรรมผู้เล่นสโมสร ฉะเชิงเทรา ไฮเทค เอฟซี โดยการ์ดและเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้าไประงับเหตุนำกองเชียร์นั้นออกนอกสนาม
2) ในนาทีที่ 45+3 สโมสร ฉะเชิงเทรา ไฮเทค เอฟซี ได้เตะลูกฟรีคิกเข้ามาในเขตโทษของสโมสร BFB พัทยา ซิตี้ ผู้เล่นหมายเลข 32 สโมสรฉะเชิงเทราฯ ได้โหม่งบอลเสย แล้วผู้เล่นหมายเลข 13 สโมสร ฉะเชิงเทราฯ ได้สัมผัสบอล แล้วบอลได้ไปถึงผู้เล่นหมายเลข 9 ได้แปบอลยิงประตูเข้าไป ระหว่างนั้นผู้ตัดสินได้ทำการสื่อสารกับผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 1 ว่าบอลได้สัมผัสมาจากผู้เล่นฝ่ายเดียวกัน ก่อนที่ผู้เล่นหมายเลข 9 จะยิงประตูเข้าไปหรือไม่ ผู้ตัดสินได้แจ้งกับผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 1 เห็นว่าได้มีการสัมผัสบอลจากผู้เล่นฝ่ายเดียวกัน ผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 1 ได้ทำการยกล้ำหน้า เนื่องจากบอลได้มาสัมผัสกับผู้เล่นหมายเลข 9 ซึ่งอยู่ในตำแหน่งล้ำหน้า ผู้ตัดสินจึงตัดสินให้เป็นการล้ำหน้าและไม่เป็นประตู หลังจากเป่าจบเกมในครึ่งเวลาแรก ได้มี นาย สุรพงษ์ กลัดสุขใส เจ้าหน้าที่ทีม สโมสร ฉะเชิงเทราฯ เป็นเจ้าหน้าที่ทีมที่มีชื่อในใบรายชื่อ แต่ไม่ได้มีรายชื่อลงทำหน้าที่ในนัดดังกล่าว ได้ลงไปในสนามเพื่อสอบถามการตัดสิน เกิดอาการไม่พอใจในการตัดสิน จึงได้ด่าผู้ตัดสิน ผู้ตัดสินทำการให้ใบแดง จากนั้นนายสุรพงษ์ ได้เข้ามาถีบผู้ตัดสินโดนบริเวณหน้าขาแต่ไม่ได้รับบาดเจ็บ
- ผลพิจารณาโทษ
1) ลงโทษกองเชียร์สโมสร BFB พัทยา ซิตี้ ผ่านรั้วกั้นรอบสนามเข้าไปในสนามแข่งขันหรือพื้นที่รอบสนามแข่งขัน ระหว่างการแข่งขัน โดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 4.2 ปรับเงิน 20,000 บาท แต่เป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 3 จึงลงโทษปรับหนึ่งในสี่ ปรับเงิน 5,000 บาท
2) ลงโทษนายสุรพงษ์ กลัดสุขใส เจ้าหน้าที่ทีม สโมสร ฉะเชิงเทรา ไฮเทค เอฟซี เจตนาทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่การแข่งขัน มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 2.8 (1) ปรับเงิน 60,000 บาท และถูกพักการทำหน้าที่ 3 เดือน เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำต่อเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ให้เพิ่มโทษจากเดิมเป็น 2 เท่า จึงเพิ่มโทษปรับเงิน เป็นปรับเงิน 120,000 บาท แต่เป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 3 จึงลงโทษปรับหนึ่งในสี่ ปรับเงิน 30,000 บาท และเพิ่มโทษถูกพักการทำหน้าที่เป็น 6 เดือน
- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
ข้อ 2.8 กรณีทำร้ายร่างกายบุคคลใด แต่ละกรณีมีโทษดังนี้
(1) ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้ถูกทำร้าย ปรับเงินตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 60,000 บาท และถูกพักการทำหน้าที่ 3 เดือน
โทษตามข้อ (1) ถึง (3) หากเป็นการกระทำต่อเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ให้เพิ่มโทษจากเดิมเป็น 2 เท่า เว้นแต่ข้อ (4) เพิ่มแต่เฉพาะค่าปรับขึ้นจากเดิมเป็น 2 เท่า เท่านั้น
ข้อ 4.2 บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด ผ่านรั้วกั้นรอบสนามเข้าไปในบริเวณพื้นที่รอบสนามแข่งขัน หรือเข้าไปในสนามแข่งขัน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากการแข่งขัน โดยไม่ได้รับอนุญาต จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 50,000 บาท
2. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 3 วันที่ 19 มกราคม 2568 คู่ระหว่างสโมสร หัวหิน ซิตี้ พบ สโมสร หัวหิน มาราเลน่า เอฟซี
- เหตุการณ์
เริ่มการแข่งขันช้ากว่า Official Countdown ไป 2 นาที (เริ่มการแข่งขันเวลา 16.32 น.) จากสาเหตุที่สโมสร หัวหิน ซิตี้ ออกจากห้องพักนักกีฬาช้า โดยผู้ควบคุมการแข่งขันได้ไปตามถึงสองครั้ง และเมื่อเดินลงสู่สนามได้มีการบูมและเดินไปทักทายกองเชียร์บนอัฒจันทร์ทั้งสองฝั่ง เป็นเหตุทำให้เริ่มการแข่งขันล่าช้า 2 นาที ไม่เป็นไปตามเวลาที่กำหนด
- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษสโมสร หัวหิน ซิตี้ ไม่ทำตามกำหนดการขั้นตอนและการนับเวลาถอยหลัง (OFFICIAL COUNTDOWN) มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 3.6 เป็นความผิดครั้งแรก จึงลงโทษเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรว่าให้สโมสรปฏิบัติตามกำหนดการขั้นตอนและการนับเวลาถอยหลังอย่างเคร่งครัด และ/หรือ ชดใช้ค่าเสียหายให้กับสมาคม (ถ้ามี)
- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
ข้อ 3.6 ต้องทำตามกำหนดการ ขั้นตอน และการนับเวลาถอยหลัง (OFFICIAL COUNTDOWN) ภายในระยะเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นจะเป็นความผิด ไม่ว่าจะเริ่มการแข่งขันในเวลาได้หรือไม่ก็ตาม
ครั้งแรก เตือนเป็นลายลักษณ์อักษร และ/หรือ ชดใช้ค่าเสียหายให้กับสมาคม (ถ้ามี)
ครั้งต่อไป จะถูกปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 60,000 บาท และ/หรือ ชดใช้ค่าเสียหายให้กับสมาคม (ถ้ามี)
3. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 3 วันที่ 19 มกราคม 2568 คู่ระหว่างสโมสร สมุทรสงคราม ซิตี้ พบ สโมสร ทัพหลวง ยูไนเต็ด
- เหตุการณ์
สโมสร ทัพหลวง ยูไนเต็ด ไม่มีหัวหน้าผู้ฝึกสอน ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการจัดการแข่งขัน ข้อ 33.3 การส่งรายชื่อเจ้าหน้าที่ทีมในแต่ละนัด แต่ละสโมสรจะสามารถส่งรายชื่อได้ไม่เกิน 9 คน โดยหัวหน้าผู้ฝึกสอน จะเป็นตำแหน่งบังคับให้ทำหน้าที่ในเขตเทคนิค
- ผลพิจารณาโทษ
ให้เตือน สโมสร ทัพหลวง ยูไนเต็ด ตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 ระเบียบว่าด้วยการลงโทษวินัย มารยาท สำหรับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพ และรายการกีฬาฟุตบอลอื่น ๆ ของสมาคม ดังที่ระบุกำหนดไว้ว่า “...องค์คณะตุลาการ อาจพิจารณาลงโทษด้วยการเตือนได้ แม้ว่าระเบียบการลงโทษในเรื่องนั้น ๆ จะไม่ได้กำหนดโทษเตือนไว้ก็ตาม” โดยขอให้สโมสรเร่งดำเนินการให้มีหัวหน้าผู้ฝึกสอนทำหน้าที่ในเขตเทคนิคในการแข่งขันนัดถัดไป มิเช่นนั้น จะมีความผิดตามระเบียบฯ ที่เกี่ยวข้อง ต่อไป
- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
บทที่ 3 ระเบียบว่าด้วยการลงโทษวินัย มารยาท สำหรับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพ และรายการกีฬาฟุตบอลอื่น ๆ ของสมาคม ดังที่ระบุกำหนดไว้ว่า “...องค์คณะตุลาการ อาจพิจารณาลงโทษด้วยการเตือนได้ แม้ว่าระเบียบการลงโทษในเรื่องนั้น ๆ จะไม่ได้กำหนดโทษเตือนไว้ก็ตาม”
ข้อ 3.27 ทีมใดหัวหน้าผู้ฝึกสอนไม่มาปฏิบัติหน้าที่ในวันแข่งขัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร จะถูกปรับเงิน 10,000 บาท
4. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการ เมืองไทย ลีก (ไทยลีก 2)
- เหตุการณ์
สโมสร สมุทรปราการ ซิตี้ ไม่ดำเนินการใด ๆ ให้ทีมพร้อมสำหรับการแข่งขันต่อในเลกที่ 2 และไม่มีการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อฝ่ายจัดการแข่งขันให้รับทราบถึงสถานการณ์ของสโมสร จนเป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 บริษัท ไทยลีก จำกัด ได้ออกหนังสือแจ้งทุกสโมสรระงับโปรแกรมการแข่งขันของสโมสร สมุทรปราการ ซิตี้ ออกไป ประกอบกับการถูกสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ห้ามขึ้นทะเบียนนักกีฬาฟุตบอลเพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 สโมสร สมุทรปราการ ซิตี้ ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาตามคำสั่งของฟีฟ่าจนล่วงเลยระยะเวลาขึ้นทะเบียนในช่วงที่ 2 ที่ปิดรับขึ้นทะเบียนในวันที่ 17 มกราคม 2568 ทำให้สโมสร สมุทรปราการ ซิตี้ ไม่มีนักกีฬาฟุตบอลเพียงพอสำหรับการแข่งขันจนจบฤดูกาล 2567/68 หากปล่อยไว้จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมในการจัดการแข่งขันของสมาคมและสโมสรที่เข้าร่วมการแข่งขัน
- ผลพิจารณาโทษ
คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท อาศัยความตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับลักษณะการปกครองฯ หมวดที่ 5 ข้อ 68.3 และหมวดที่ 6 ข้อ 70.3.11 มีมติเอกฉันท์ ลงโทษสโมสร สมุทรปราการ ซิตี้ ตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษวินัย มารยาท บทที่ 3 หมวดที่ 1 ลักษณะโทษ ข้อ 2.12 ปรับให้ออกจากการแข่งขัน ประกอบกับ ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการ ไทยลีก 2 บทที่ 3 ข้อ 9.1 ให้ปรับสโมสร สมุทรปราการ ซิตี้ ออกจากการแข่งขัน พร้อมชดใช้เงินจำนวน 2,000,000 บาท (สองล้านบาทถ้วน) รวมทั้งชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแก่สมาคม หรือผู้ร้อง และต้องส่งเงินสนับสนุนที่ได้รับไปแล้วทั้งหมดคืน และให้ยกเลิกผลการแข่งขันของทีมทั้งหมด และจะต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกภาพของสมาคม ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับลักษณะการปกครอง
โดยการยกเลิกผลการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการ ไทยลีก 2 ในฤดูกาล 2567/68 ทั้งหมดของสโมสร สมุทรปราการ ซิตี้ นั้น ให้ บริษัท ไทยลีก จำกัด เป็นผู้ดำเนินการยกเลิก และแจ้งฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
นอกจากนี้ อาศัยความตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับลักษณะการปกครองฯ หมวดที่ 5 ข้อ 68.4 คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท จึงมีมติเอกฉันท์ ให้เสนอสภากรรมการ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ พิจารณาถอดถอนสโมสรสมุทรปราการ ซิตี้ จากการเป็นสมาชิกภาพของสมาคม อันเนื่องมาจากการฝ่าฝืนข้อบังคับและระเบียบฯ ดังกล่าวข้างต้น ต่อไป
พิจารณาเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน
1. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการ “บีจีซี เมืองไทยประกันภัย คัพ” วันที่ 11 มกราคม 2568 คู่ระหว่างสโมสร พิษณุโลก เอฟซี พบ สโมสร ลพบุรี ซิตี้ (สโมสร ลพบุรี ซิตี้ ร้องเรียนมา 2 เหตุการณ์)
- เหตุการณ์ที่ 1
ในนาทีที่ 4 จากจังหวะที่ผู้เล่นหมายเลข 25 Mr. EKENE VICTOR AZIKE สโมสร พิษณุโลก เอฟซี ได้พยายามที่สกัดลูกบอลนั้น ลูกบอลได้ไปสัมผัสโดนแขนขวาของผู้เล่นคนดังกล่าวในกรอบเขตโทษ ซึ่งผู้ตัดสินไม่ได้มีการเป่าฟาล์วแฮนด์บอลและไม่ได้ให้จุดโทษแก่สโมสร ลพบุรี ซิตี้ แต่อย่างใด
- ผลพิจารณาโทษ
พฤติกรรมของผู้เล่นหมายเลข 25 Mr. EKENE VICTOR AZIKE สโมสร พิษณุโลก เอฟซี ในจังหวะที่พยายามจะเตะลูกบอลนั้น ซึ่งจังหวะก่อนหน้าได้มีผู้เล่นหมายเลข 44 นายอภิสิทธิ์ เสมอเหมือน สโมสร ลพบุรี ซิตี้ กระโดดใช้เท้ายันไปที่ลูกบอล ทำให้ลูกบอลไปถูกแขนขวาของผู้เล่นหมายเลข 25 Mr. EKENE VICTOR AZIKE สโมสร พิษณุโลก เอฟซี โดยแขนของผู้เล่นคนดังกล่าวอยู่ในลักษณะที่เป็นปกติของการเล่นทั่วไป ไม่มีการเคลื่อนแขนเข้าหาลูกบอลในลักษณะที่เป็นการเจตนาใช้มือเล่นลูกบอล ไม่ถือว่าเป็นการกระทำผิด ตามกติกาข้อ 12 Fouls and Misconduct หน้า 106 Handling the ball เกี่ยวกับการเล่นลูกบอลด้วยมือ ผู้ตัดสินให้การเล่นดำเนินต่อไป ถือว่านายจิรวัฒน์ ชมภูศรี ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้อง
- เหตุการณ์ที่ 2
ในนาทีที่ 89 ผู้เล่นหมายเลข 4 นายกฤษณะ จำเนียรการ สโมสร ลพบุรี ซิตี้ ได้เข้าถึงลูกบอลก่อน และเจตนาเข้าสกัดลูกบอล โดยไม่ได้มีเจตนายกเท้าสูงใส่ผู้เล่นหมายเลข 27 นายรัฐพล หอมมาลา สโมสร พิษณุโลก เอฟซี แต่อย่างใด ซึ่งผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 2 ได้มีการสะบัดธงแจ้งกับผู้ตัดสินว่า ผู้เล่นหมายเลข 4 นายกฤษณะ จำเนียรการ สโมสร ลพบุรี ซิตี้ เป็นผู้ทำฟาล์ว ผู้ตัดสินจึงเป่าฟาล์ว จากจังหวะนี้เป็นเหตุทำให้สโมสร ลพบุรี ซิตี้ เสียลูกตั้งเตะและเสียประตูในจังหวะต่อมา
- ผลพิจารณาโทษ
1) ลงโทษนายจิรวัฒน์ ชมภูศรี ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 2 เดือน เนื่องจากการชนปะทะกันของผู้เล่นทั้งสอง เกิดจากการเข้าแย่งชิงลูกบอลที่เป็นปกติทั่วไป โดยผู้เล่นหมายเลข 4 นายกฤษณะ จำเนียรการ สโมสร ลพบุรี ซิตี้ ได้เตะลูกบอลก่อน ประกอบกับผู้เล่นหมายเลข 27 นายรัฐพล หอมมาลา สโมสร พิษณุโลก เอฟซี ได้วิ่งเข้ามา ทำให้เกิดการชนปะทะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ได้มีการกระทำผิดของผู้เล่นทั้งสอง การที่ผู้ตัดสินเป่าฟาล์วตามการยกธงแจ้งของผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 2 ถือว่าตัดสินไม่ถูกต้อง และจากการเริ่มเล่นครั้งนี้ ทำให้สโมสร ลพบุรี ซิตี้ เสียประตู จึงทำให้มีผลต่อการแข่งขัน
2) ลงโทษนายมีชัย ทั่งหิรัญ ผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 3 สัปดาห์ เนื่องจากให้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริงแก่ทีมผู้ตัดสินด้วยกัน
- ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันฯ
ข้อ 57. เจ้าหน้าที่การแข่งขัน ผู้ใดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับนี้ จะถูกลงโทษ ดังนี้
(1) ตักเตือน
(2) ภาคทัณฑ์
(3) พักการปฏิบัติหน้าที่ 1 เดือน
(4) พักการปฏิบัติหน้าที่ 3 เดือน
(5) พักการปฏิบัติหน้าที่ 6 เดือน
(6) พักการปฏิบัติหน้าที่ 1 ปี
(7) พักการปฏิบัติหน้าที่ 2 ปี
(8) พักการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาที่กำหนด
(9) พักการปฏิบัติหน้าที่ตลอดชีพ
การนับโทษในระหว่างฤดูกาลให้นับเฉพาะสัปดาห์ที่มีการแข่งขัน ตามปฏิทินการแข่งขันประจำฤดูกาลของสมาคมฯ ในกรณีที่สิ้นสุดฤดูกาลแข่งขันประจำฤดูกาลแล้ว ยังมีโทษติดค้างอยู่ ให้มีผลผูกพันถึงฤดูกาลถัดไป
Futsal & Beach Soccer
21 January 2025
ฟุตซอลหญิงไทย อยู่โถ 1 จับสลากชิงแชมป์เอเชีย 6 กุมภานี้
Development
21 January 2025
ยกระดับครู! สมาคมฯ จัดอบรมโค้ชหลักสูตร บี ไลเซนส์ ครั้งแรกประจำปี 2568 เพื่อพัฒนาฟุตบอลระดับโรงเรียน
Futsal & Beach Soccer
19 January 2025
"โค้ชโอ" ให้สัมภาษณ์หลังเกม ฟุตซอลหญิงไทย พบ เลบานอน ในศึกชิงแชมป์เอเชีย รอบคัดเลือก นัดสุดท้าย