22 April 2025

12 วันที่ผ่านมา

สรุปผลการประชุมคณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ครั้งที่ 35 ประจำฤดูกาล 2567/68

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท จัดประชุม ครั้งที่ 35 ประจำฤดูกาล 2567/68 โดยมี นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ เป็นประธาน

พิจารณาเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน

1. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการ “รีโว่ ไทยลีก” ไทยลีก 1 วันที่ 10 เมษายน 2568 คู่ระหว่างสโมสร การท่าเรือ เอฟซี พบ สโมสร พีที ประจวบ เอฟซี  (สโมสรการท่าเรือ เอฟซี ร้องเรียนมา 2 เหตุการณ์) 

- เหตุการณ์ที่ 1
ในนาทีที่ 33 ผู้เล่นหมายเลข 26 Mr. LONSANA DOUMBOUYA สโมสร การท่าเรือ เอฟซี ทำประตูได้ แต่ผู้ตัดสินไม่ให้เป็นประตู เนื่องจากมองว่าผู้เล่นคนดังกล่าวไปทำฟาวล์ใส่ผู้เล่นหมายเลข 74 นายพลเอก มณีกร สโมสร พีที ประจวบ เอฟซี ก่อน ซึ่งสโมสร การท่าเรือ เอฟซี เห็นว่า จังหวะดังกล่าวเป็นการแย่งชิงลูกบอลตามปกติ ผู้เล่นฝ่ายรับล้มลงเองจากการปะทะตามธรรมชาติ จังหวะดังกล่าวควรให้เป็นประตู

- ผลพิจารณาโทษ
พฤติกรรมของผู้เล่นหมายเลข 26 Mr. LONSANA DOUMBOUYA สโมสร การท่าเรือ เอฟซี ได้ใช้เท้าขวาเข้าไปขวาง ทำให้เกิดการชนปะทะในลักษณะของการหนุนทำให้ผู้เล่นหมายเลข 74 นายพลเอก มณีกร สโมสร พีที ประจวบ เอฟซี เสียหลักล้มลง เป็นการกระทำผิดตามกติกาข้อ 12 Fouls and Misconduct หน้า 105 ให้เตะโทษโดยตรง จากนั้นมีการทำประตูได้ ผู้ตัดสินจึงได้เป่านกหวีดและแจ้งว่าผู้เล่นหมายเลข 26 Mr. LONSANA DOUMBOUYA สโมสร การท่าเรือ เอฟซี มีการทำผิดกติกาก่อนการทำประตู VAR ได้ทำการตรวจสอบแล้วเห็นด้วยกับการตัดสิน จึงแจ้งยืนยันกับผู้ตัดสินไม่ให้เป็นประตู โดยไม่ต้องให้ผู้ตัดสินออกมาทำการตรวจสอบ ซึ่งเป็นไปตามหลักการ VAR Protocol หน้า 143-150 ถือว่านายชัยฤกษ์ งามสม ผู้ตัดสิน และนายอนุสรณ์ หนูแก้ว ผู้ตัดสินวีดิทัศน์ (VAR) ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้อง 

- เหตุการณ์ที่ 2
ในนาทีที่ 87 ผู้เล่นหมายเลข 33 Mr. NOBORU SHIMURA สโมสร การท่าเรือ เอฟซี เตะบอลไปสัมผัสโดนแขนของผู้เล่นหมายเลข 77 นายคีรอน อ้อนชัยภูมิ สโมสร พีที ประจวบ เอฟซี ในกรอบเขตโทษ ซึ่ง VAR ได้ทำการตรวจสอบและเรียกผู้ตัดสินมา (On-Field Review) หลังจากนั้นผู้ตัดสินได้พิจารณาแล้วว่า จังหวะดังกล่าวไม่แฮนด์บอล ทำให้สโมสรการท่าเรือ เอฟซี ไม่ได้จุดโทษ

- ผลพิจารณาโทษ
แขนขวาของผู้เล่นหมายเลข 77 นายคีรอน อ้อนชัยภูมิ สโมสร พีที ประจวบ เอฟซี อยู่ในลักษณะของแขนที่เป็นธรรมชาติไม่ได้มีการกางแขนออก ประกอบกับผู้เล่นได้พยายามเคลื่อนแขนเพื่อหลบลูกบอลแล้ว ไม่ถือว่าเป็นการกระทำผิดในเรื่องของการเล่นลูกบอลด้วยมือ ตามกติกาข้อ 12 Fouls and Misconduct หน้า 106 ผู้ตัดสินไม่มีการเป่าฟาล์ว เพราะเห็นว่าแขนแนบลำตัว เมื่อบอลอยู่นอกการเล่น VAR ได้แจ้งให้ผู้ตัดสินออกมาตรวจสอบกรณีอาจเป็นลูกโทษ เมื่อผู้ตัดสินตรวจสอบแล้วยืนยันตามการตัดสินเดิม คือ ไม่แฮนด์บอลเพราะเห็นว่าแขนของผู้เล่นเป็นปกติและได้พยายามเคลื่อนแขนหลบแล้ว ถือว่านายชัยฤกษ์ งามสม ผู้ตัดสิน และนายอนุสรณ์ หนูแก้ว ผู้ตัดสินวีดิทัศน์ (VAR) ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้อง  

2. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการ “ช้าง เอฟเอ คัพ” วันที่ 9 เมษายน 2568 คู่ระหว่างสโมสร แพร่ ยูไนเต็ด พบ สโมสร นครศรี ยูไนเต็ด  (สโมสรนครศรี ยูไนเต็ด ร้องเรียนมา 2 เหตุการณ์) 

- เหตุการณ์ที่ 1
ในนาทีที่ 78 ผู้เล่นหมายเลข 3 นายชาติเวท สิงห์โต สโมสร แพร่ ยูไนเต็ด ได้ทำการสไลด์ขาใส่ผู้เล่นหมายเลข 11 Mr. THIAGO RODRIGUES DA SILVA สโมสร นครศรี ยูไนเต็ด ในกรอบเขตโทษ โดยไม่ได้มีการสัมผัสที่ลูกบอล และเกิดการปะทะกับผู้เล่นคนดังกล่าวจนล้มลง แต่ผู้ตัดสินไม่ได้เป่าฟาล์ว ทำให้สโมสร นครศรี ยูไนเต็ด ไม่ได้จุดโทษ

- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษนายศรายุทธ จักรเงิน ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 6 สัปดาห์ เนื่องจากผู้เล่นหมายเลข 3 นายชาติเวท สิงห์โต สโมสร แพร่ ยูไนเต็ด กระโดดสไลด์เข้าหาผู้เล่นหมายเลข 11 Mr. THIAGO RODRIGUES DA SILVA สโมสร นครศรี ยูไนเต็ด ทำให้เกิดการชนปะทะจนล้มลงในเขตโทษ ถือเป็นการกระทำผิดตามกติกาข้อ 12 Fouls and Misconduct หน้า 105 ที่ต้องให้เตะโทษโดยตรง ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นในเขตโทษควรให้เตะโทษ ณ จุดโทษ แต่ผู้ตัดสินไม่มีการเป่าฟาล์ว ถือว่าตัดสินไม่ถูกต้อง  

- เหตุการณ์ที่ 2
ในนาทีที่ 93 ผู้เล่นหมายเลข 11 Mr. THIAGO RODRIGUES DA SILVA สโมสร นครศรี ยูไนเต็ด ได้วิ่งเข้าไปหาผู้รักษาประตูของสโมสร แพร่ ยูไนเต็ด เพื่อไม่ให้ถ่วงเวลา ต่อมาได้มีผู้เล่นหมายเลข 4 นายลภณวิช สุทธิเสน สโมสร แพร่ ยูไนเต็ด เข้ามาผลักอกใส่ผู้เล่นหมายเลข 11 Mr. THIAGO RODRIGUES DA SILVA สโมสร นครศรี ยูไนเต็ด จนเกิดเหตุชุลมุนตามมา หลังจากนั้นผู้ตัดสินได้ทำการคาดโทษ (ใบเหลือง) กับผู้เล่นหมายเลข 4 นายลภณวิช สุทธิเสน สโมสร แพร่ ยูไนเต็ด และทำการไล่ออก (ใบแดง) กับผู้เล่นหมายเลข 11 Mr. THIAGO RODRIGUES DA SILVA สโมสร นครศรี ยูไนเต็ด ทำให้สโมสรนครศรี ยูไนเต็ด ไม่เห็นด้วยกับโทษใบแดงที่ผู้เล่นคนดังกล่าวได้รับ

- ผลพิจารณาโทษ
ยกคำร้อง เนื่องจากคลิปภาพเหตุการณ์ทั้งที่ผู้ร้องส่งมาและจากส่วนกลางไม่สามารถแสดงให้เห็นเหตุการณ์ และการกระทำของผู้เล่นทั้งสองได้ จึงไม่สามารถพิจารณาชี้ชัดไปทางหนึ่งทางใดได้ 

พิจารณาเหตุการณ์ไม่ปกติของการแข่งขันกีฬาฟุตบอล

3. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการรีโว่ ไทยลีก (ไทยลีก 1) วันที่ 19 เมษายน 2568 คู่ระหว่างสโมสร ลำพูน วอริเออร์ พบ สโมสร นครปฐม ยูไนเต็ด 

- เหตุการณ์
ในช่วงเริ่มการแข่งขันครึ่งเวลาหลัง ได้รับแจ้งจากผู้ตัดสินที่ 4 ว่าสโมสร ลำพูน วอริเออร์ มีบุคคลที่ไม่มีรายชื่อใน Official List เข้าไปนั่งในที่นั่งเจ้าหน้าที่ทีมและผู้เล่นสำรอง (Bench) คือ อดีตประธานสโมสรลำพูน วอริเออร์ ซึ่งผู้ตัดสินที่ 4 ได้ไปแจ้งบุคคลดังกล่าวแล้วว่าไม่มีรายชื่อในใบ Official List แต่ได้รับการตอบกลับจากบุคคลดังกล่าวว่ามานั่งแทนตำแหน่งประธานสโมสร ลำพูน วอริเออร์ จากนั้นจึงได้แจ้งประสาน GC สโมสร ลำพูน วอริเออร์ ให้ไปแจ้งและเชิญบุคคลดังกล่าวออกจากที่นั่งเจ้าหน้าที่ทีมและผู้เล่นสำรอง (Bench) ซึ่งหลังจากที่ GC ได้ไปบอกบุคคลดังกล่าวแล้วกลับมาแจ้งว่าบุคคลดังกล่าวนั้นยืนยันที่จะนั่งอยู่ในที่นั่งเจ้าหน้าที่ทีมและผู้เล่นสำรอง (Bench) ต่อไปจนจบการแข่งขัน และหลังจบการแข่งขันได้มาดูเทปบันทึกการแข่งขันพบว่าบุคคลดังกล่าวได้เข้าไปนั่งในที่นั่งเจ้าหน้าที่ทีมและผู้เล่นสำรอง (Bench) ของสโมสรลำพูน วอริเออร์ ตั้งแต่ครึ่งเวลาแรกแล้วแต่ระบุไม่ได้ว่าเข้ามาในช่วงเวลาใด อีกทั้งมีการแขวน AD Card ซึ่งจากการสังเกตในเทปบันทึกการแข่งขัน AD Card ที่แขวนนั้นเป็น AD Card ของนักกีฬา แต่ระบุไม่ได้ว่าเป็นของนักกีฬาคนใด
    
- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษสโมสร ลำพูน วอริเออร์ ปล่อยให้บุคคลที่ไม่ได้มีชื่อแจ้งไว้ในรายชื่อเจ้าหน้าที่ผู้มีสิทธินั่งในที่นั่งนักกีฬาฟุตบอลสำรอง 9 คน ภายในเขตเทคนิค เข้าไปในเขตเทคนิคระหว่างการแข่งขัน มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 3.3 ปรับเงิน 10,000 บาท 

- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
ข้อ 3.3 ทีมใดยอมให้บุคคล ที่ไม่ได้มีชื่อแจ้งไว้ในรายชื่อเจ้าหน้าที่ผู้มีสิทธินั่งในที่นั่งนักกีฬาฟุตบอลสำรอง 9 คน ภายในเขตเทคนิค เข้าไปในเขตเทคนิคระหว่างการแข่งขัน จะถูกปรับเงินคนละ 10,000 บาท 

4. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการ ไทยแลนด์ เซมิโปร ลีก (TS) วันที่ 9 เมษายน 2568 คู่ระหว่างสโมสร อุบลคิดส์ ซิตี้ พบ สโมสร กาฬสินธุ์ ยูไนเต็ด 

- เหตุการณ์
ผู้ควบคุมการแข่งขันได้ทำการตรวจสอบจำนวนรถพยาบาลที่มาปฏิบัติหน้าที่ ณ สนามแข่งขัน ปรากฏว่าในการแข่งขันนัดนี้มีรถพยาบาลมาประจำสนามเพียง 1 คัน ผู้ควบคุมการแข่งขันได้สอบถามจากเจ้าหน้าที่ประจำรถพยาบาล ได้รับแจ้งว่ารถพยาบาลคันที่ 2 จะตามมาสมทบภายหลัง แต่เมื่อถึงเวลาเริ่มการแข่งขันแล้ว ตลอดจนจบการแข่งขัน รถพยาบาลคันที่ 2 ก็ไม่ได้มาประจำสนาม ทราบสาเหตุจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ประจำรถพยาบาลและเจ้าที่สนามว่า สโมสร อุบลคิดส์ ซิตี้ ได้ประสานรถพยาบาลไปเพียง 1 คัน

- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษสโมสร อุบลคิดส์ ซิตี้  ไม่จัดรถพยาบาล ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับ มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 5.3.12 วรรคสอง ปรับเงิน 40,000 บาท แต่เนื่องจากเป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยแลนด์ เซมิโปร ลีก จึงลงโทษปรับหนึ่งในสี่ ปรับเงิน 10,000 บาท 
 
- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
ข้อ 5.3.12 ต้องจัดรถพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ พร้อมกับอุปกรณ์ช่วยชีวิต เพื่อรองรับการเจ็บป่วยฉุกเฉินของนักกีฬาฟุตบอลหรือผู้ชม จำนวน 2 คัน หรือตามจำนวนที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการจัดการแข่งขันรายการนั้น ก่อนเริ่มเวลาการแข่งขันไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง 30 นาที มิฉะนั้นจะถูกปรับ

ครั้งแรก 20,000 บาท 
ครั้งต่อไปครั้งละ 30,000 บาท

กรณีที่รถพยาบาลมาไม่ทันตามกำหนดระยะเวลาข้างต้น และได้ล่วงเลยระยะเวลาเริ่มการแข่งขันไป ให้เป็นดุลพินิจของผู้ควบคุมการแข่งขันที่จะเลื่อนระยะเวลาเริ่มต้นการแข่งขันออกไปได้ครั้งละ 30 นาที แต่ไม่เกิน 2 ครั้ง ต้องถูกปรับเงิน 40,000 บาท หากมีการกระทำความผิดซ้ำอีก ในการแข่งขันนัดอื่นให้เพิ่มโทษปรับเงินเป็นสองเท่า

5. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการไทยแลนด์ เซมิโปร ลีก (TS) วันที่ 19 เมษายน 2568  คู่ระหว่างสโมสร สิงห์บุรี วอร์ริเออร์ พบ สโมสร อยุธยา พีเค เอฟซี 

- เหตุการณ์
1) ในนาทีที่ 90+7 ผู้เล่นหมายเลข 24 นายศุภกฤษ น้อยยุ่น สโมสร อยุธยา พีเค เอฟซี ได้รับการคาดโทษ ครั้งที่ 2 เป็นใบแดง ในขณะที่เดินออกนอกสนามได้ชี้หน้าผู้ตัดสินพร้อมพูดคำหยาบคายใส่ผู้ตัดสิน ทีมงานผู้ตัดสินได้ยินทั้งหมดทุกคน เพราะใช้วิทยุสื่อสารทั้งหมด

 2) หลังจากผู้ตัดสินเป่าจบการแข่งขัน ขณะที่ทีมงานผู้ตัดสินเดินออกจากสนามเพื่อกลับเข้าห้องพักผู้ตัดสิน ได้มีผู้เล่นหมายเลข 8 นายอัฐพงศ์ ผุดผ่อง ของสโมสร สิงห์บุรี วอร์ริเออร์ มายืนรอที่ทางออกสนามและได้ตะโกนใส่ผู้ตัดสินด้วยคำหยาบคายว่า ซึ่งทีมงานผู้ตัดสินได้ยินชัดเจน สาเหตุเนื่องจากไม่พอใจที่ผู้ตัดสินให้ใบแดง (ไล่ออก) แก่ตนเองในนาทีที่ 85

- ผลพิจารณาโทษ
1) ลงโทษผู้เล่นหมายเลข 24 นายศุภกฤษ น้อยยุ่น สโมสร อยุธยา พีเค เอฟซี ด่าบุคคลใดด้วยถ้อยคำหยาบคาย และข่มขู่ มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 1.9 ถูกพักการแข่งขัน 2 นัด และปรับเงิน 50,000 บาท แต่เนื่องจากเป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยแลนด์ เซมิโปร ลีก จึงลงโทษปรับหนึ่งในสี่ ปรับเงิน 12,500 บาท

2) ลงโทษผู้เล่นหมายเลข 8 นายอัฐพงศ์ ผุดผ่อง สโมสร สิงห์บุรี วอร์ริเออร์  ด่าบุคคลใดด้วยถ้อยคำหยาบคาย มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 1.9 ถูกพักการแข่งขัน 2 นัด และปรับเงิน 30,000 บาท แต่เนื่องจากเป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยแลนด์ เซมิโปร ลีก จึงลงโทษปรับหนึ่งในสี่ ปรับเงิน 7,500 บาท

- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
ข้อ 1.9 ด่าด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย หรือเยาะเย้ย ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือ ข่มขู่ หรือการเหยียดผิวหรือเชื้อชาติต่อบุคคลใด ด้วยพฤติกรรมที่ชัดแจ้ง ทั้งภาษากาย หรือการกระทำอื่นใดซึ่งสื่อถึงความหมายนั้น ทั้งภายในและภายนอกสถานที่จัดการแข่งขัน ก่อน ระหว่าง หรือหลังการแข่งขัน ถูกพักการแข่งขัน 1 ถึง 3 นัด และปรับเงินตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 60,000 บาท 

6. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการไทยแลนด์ เซมิโปร ลีก (TS) วันที่ 19 เมษายน 2568 คู่ระหว่างสโมสร กรินทร์ ยูไนเต็ด  พบ สโมสร เอฟซี เขากำแพง  

- เหตุการณ์
ในเวลา 14.00 น. เมื่อทีมคู่แข่งขันเดินทางมาถึงสนาม ผู้ควบคุมการแข่งขันได้ส่งมอบใบ Selection list ให้กับนายเนติ สูนยะไกร หัวหน้าผู้ฝึกสอนสโมสร กรินทร์ ยูไนเต็ด ต่อมานายอรรถพร อภิจรัสพาณิชย์ ผู้จัดการทั่วไป ได้นำใบ Selection list ที่ได้บันทึกผู้เล่นตัวจริงและผู้เล่นตัวสำรองส่งมอบให้ผู้ควบคุมการแข่งขัน เวลา 14.05 น.โดยประมาณ เพื่อบันทึกเข้าสู่ระบบ FCS ต่อมาในเวลา 14.30 น. เมื่อถึงเวลาประชุมทีม มีนายปรีชา ขำหาญ ผู้จัดการทั่วไปเข้าร่วมประชุมทีม เมื่อเปิดประชุมหลังจากตรวจชุดแข่งขันแล้ว ได้ให้ผู้เข้าร่วมประชุมตรวจสอบรายชื่อผู้เล่นตัวจริงและผู้เล่นตัวสำรองจากใบ Selection list และใบ Starting list เกมการแข่งขันดำเนินมาถึงนาทีที่ 90+2 สโมสร กรินทร์ ยูไนเต็ด ขอเปลี่ยนตัวผู้เล่นโดยมีเจ้าหน้าที่ทีม เป็นผู้ส่งใบเปลี่ยนตัวพร้อมนำผู้เล่นหมายเลข 27 นายนนท์ปกรณ์ พรสุวรรณกิตต์ ลงเล่นแทนผู้เล่นหมายเลข 10 นายศิรณัฏฐ์ ศรีวลักษณ์ มาพร้อมกับแสดง AD card ผู้ตัดสินที่ 4 ดำเนินการเปลี่ยนตัวตามขั้นตอน ในเวลาดังกล่าวผู้ควบคุมการแข่งขันและผู้ประเมินผู้ตัดสินได้ตรวจสอบพบว่า ผู้เล่นหมายเลข 27 นายนนท์ปกรณ์ พรสุวรรณกิตต์ สโมสร กรินทร์ ยูไนเต็ด ไม่มีชื่อเป็นผู้เล่นสำรองในใบ Starting List ผู้ควบคุมการแข่งขันได้ลงไปทักท้วงกับผู้ตัดสินที่ 4 เพื่อนำผู้เล่นคนดังกล่าวออกจากสนามแข่งขัน  ขณะที่จะนำผู้เล่นหมายเลข 27 นายนนท์ปกรณ์ พรสุวรรณกิตต์ ออกจากสนามแข่งขัน เป็นจังหวะที่ผู้ตัดสินเป่านกหวีดเพื่อคาดโทษ ผู้เล่นหมายเลข 27 นายนนท์ปกรณ์ พรสุวรรณกิตต์ และหมดเวลาการแข่งขันในเวลาเดียวกัน รวมเวลาที่ผู้เล่นคนดังกล่าวอยู่ในสนามประมาณ 2 นาที

- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษสโมสร กรินทร์ ยูไนเต็ด นำนักกีฬาฟุตบอลที่ไม่มีสิทธิลงทำการแข่งขันในนัดนั้น ส่งรายชื่อลงสนามแข่งขัน มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 3.12 ให้ปรับสโมสร กรินทร์ ยูไนเต็ด แพ้ สโมสร เอฟซี เขากำแพง ประกอบกับบทที่ 3 ของระเบียบดังกล่าว ข้อความว่า “ข้อกำหนดบทลงโทษเรื่องการปรับแพ้ ให้ปรับทีมนั้นเป็นแพ้ โดยให้นับประตูเสียตามที่เสียจริง หากเสียน้อยกว่า 3 ประตู ให้นับประตูเสียเป็น 3 ประตู ส่วนประตูได้ให้ปรับเป็น 0 ประตู” จึงลงโทษปรับสโมสรกรินทร์ ยูไนเต็ด แพ้ สโมสรเอฟซี เขากำแพง 0 ประตูต่อ 3

- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
ข้อ 3.12 ทีมใดนำนักกีฬาฟุตบอลที่ไม่มีสิทธิลงทำการแข่งขันในนัดนั้น ส่งรายชื่อลงทำการแข่งขัน หรือลงสนามแข่งขัน ให้ปรับทีมนั้นเป็นแพ้

บทที่ 3 ระเบียบว่าด้วยการลงโทษวินัย มารยาท สำหรับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพ และรายการกีฬาฟุตบอลอื่น ๆ ของสมาคม

ข้อความว่า “ข้อกำหนดบทลงโทษเรื่องการปรับแพ้ ให้ปรับทีมนั้นเป็นแพ้ โดยให้นับประตูเสียตามที่เสียจริง หากเสียน้อยกว่า 3 ประตู ให้นับประตูเสียเป็น 3 ประตู ส่วนประตูได้ให้ปรับเป็น 0 ประตู”

7. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการไทยแลนด์ เซมิโปร ลีก (TS) วันที่ 20 เมษายน 2568 คู่ระหว่างสโมสร ปากน้ำโพ เอฟซี พบ สโมสร พิจิตร ยูไนเต็ด 

- เหตุการณ์
1) ในนาทีที่ 90 ผู้เล่นหมายเลข 11 นายธนวัฒน์ ร่วมรั่ว สโมสร ปากน้ำโพ เอฟซี ได้กระทำฟาวล์ผู้เล่น สโมสร พิจิตร ยูไนเต็ด 2021 ผู้ตัดสินได้ให้ใบเหลืองผู้เล่นหมายเลข 11 นายธนวัฒน์ ร่วมรั่ว สโมสร ปากน้ำโพ เอฟซี จากนั้นผู้เล่นหมายเลข 5 นายสัจจา แสงสุวรรณ สโมสร พิจิตร ยูไนเต็ด 2021 ได้เข้ามาหาผู้เล่นหมายเลข 11 สโมสร ปากน้ำโพ เอฟซี แต่ไม่มีเหตุการณ์อะไร แต่ผู้เล่นหมายเลข 20 นายเอกพงศ์ อุทธสาร (GK) สโมสร ปากน้ำโพ เอฟซี ได้วิ่งเข้ามาชกที่บริเวณใบหน้าของผู้เล่นหมายเลข 5 นายสัจจา แสงสุวรรณ สโมสร พิจิตร ยูไนเต็ด 2021 ผู้ตัดสินได้ให้ใบแดงผู้เล่นหมายเลข 20 นายเอกพงศ์ อุทธสาร (GK) สโมสร ปากน้ำโพ เอฟซี ทำให้ไม่พอใจคำตัดสิน ผู้เล่นหมายเลข 20 นายเอกพงศ์ อุทธสาร (GK) สโมสร ปากน้ำโพ เอฟซี ได้วิ่งเข้ามาจะทำร้ายผู้ตัดสิน เนื่องจากผู้เล่นทั้งสองทีมได้เข้ามากันผู้เล่นหมายเลข 20 นายเอกพงศ์ อุทธสาร สโมสร ปากน้ำโพ เอฟซี ออกจากสนาม หลังจากนั้นผู้ตัดสินได้เริ่มแข่งขันต่อจนจบการแข่งขัน   

2) หลังจากจบการแข่งขันไปประมาณ 2 นาที กองเชียร์สโมสร พิจิตร ยูไนเต็ด 2021 ได้มีการจุดพลุแฟร์ (สีแดง) บริเวณอัฒจันทร์ฝั่ง AWAY ซึ่งเป็นที่นั่งของกองเชียร์สโมสรพิจิตร ยูไนเต็ด 2021 ผู้ควบคุมการแข่งขันได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ให้ระงับเหตุการณ์ดังกล่าว จากนั้นกองเชียร์สโมสรพิจิตร ยูไนเต็ด 2021 ได้ดับพลุแฟร์ลง ซึ่งก่อนที่กองเชียร์จะเข้ามาในสนาม ทางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้มีการตรวจค้นสัมภาระของแฟนบอลทั้งทีมเหย้าและทีมเยือน แต่ก็มีแฟนบอลทีมเยือนลักลอบเอาพลุแฟร์เข้ามาในสนามได้ 

- ผลพิจารณาโทษ
1) ลงโทษผู้รักษาประตูหมายเลข 20 นายเอกพงศ์ อุทธสาร สโมสร ปากน้ำโพ เอฟซี  ทำร้ายร่างกายคู่แข่งขันไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้ถูกทำร้าย (เพิ่มโทษจากใบแดง) มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 1.12 (1) ถูกพักการแข่งขัน 2 นัด และปรับเงิน 40,000 บาท แต่เนื่องจากเป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยแลนด์ เซมิโปร ลีก จึงลงโทษปรับหนึ่งในสี่ ปรับเงิน 10,000 บาท

2) ลงโทษผู้รักษาประตูหมายเลข 20 นายเอกพงศ์ อุทธสาร สโมสร ปากน้ำโพ เอฟซี พยายามทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่การแข่งขัน มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 1.11 ถูกพักการแข่งขัน 2 นัด และปรับเงิน 30,000 บาท แต่เนื่องจากเป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยแลนด์ เซมิโปร ลีก จึงลงโทษปรับหนึ่งในสี่ ปรับเงิน 7,500 บาท

3) ลงโทษกองเชียร์สโมสร พิจิตร ยูไนเต็ด 2021 จุดพลุบนอัฒจันทร์ เป็นกระทำการที่ไม่เหมาะสมในสถานที่จัดการแข่งขัน มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 4.3 ปรับเงิน 60,000 บาท แต่เนื่องจากเป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยแลนด์ เซมิโปร ลีก จึงลงโทษปรับหนึ่งในสี่ ปรับเงิน 15,000 บาท

4) ลงโทษสโมสร ปากน้ำโพ เอฟซี บกพร่องในการตรวจเช็คหรือควบคุมไม่ให้กองเชียร์หรือบุคคลใด นำพลุ ประทัดดอกไม้ไฟ เข้าไปในสถานที่จัดการแข่งขันหรืออัฒจันทร์  มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 5.3.18 (1) ปรับเงิน 30,000 บาท แต่เนื่องจากเป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยแลนด์ เซมิโปร ลีก จึงลงโทษปรับหนึ่งในสี่ ปรับเงิน 7,500 บาท

- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
ข้อ 1.11 พยายามทำร้ายร่างกายบุคคลใด หรือปลุกเร้าเพื่อนร่วมทีมเพื่อนำไปสู่เหตุการณ์ที่รุนแรง ถูกพักการแข่งขัน 1 ถึง 2 นัด และปรับเงินตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 30,000 บาท

ข้อ 1.12 ทำร้ายร่างกาย บุคคลใด แต่ละกรณีมีโทษดังนี้ 
(1) ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้ถูกทำร้าย ถูกพักการ แข่งขันและห้ามเข้าสนาม 1 ถึง 3 นัด และปรับเงินตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 40,000 บาท

ข้อ 4.3 ใช้วัสดุอุปกรณ์ใด ๆ ที่ก่อให้เกิดการรบกวนการทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน หรือนักกีฬาฟุตบอลระหว่างการแข่งขัน เช่น การเป่านกหวีด หรือการใช้แตร หรือการใช้แตรไฟฟ้า หรือฉายแสงเลเซอร์ เป็นต้น หรือกระทำการใด ๆ ที่ไม่เหมาะสมในสถานที่จัดการแข่งขัน ได้แก่ การจุดพลุ หรือจุดประทัด หรือจุดไฟเย็น หรือจุดวัตถุอื่นจนเกิดเป็นควัน หรือจุดพลุบริเวณที่ว่างด้านหลังของอัฒจันทร์ ทั้งก่อน หรือระหว่าง หรือหลังจากการแข่งขันจบลงแล้ว จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 30,000 บาท ถึง 60,000 บาท

ข้อ 5.3.18 ความบกพร่องด้านการรักษาความปลอดภัยในวันแข่งขัน
(1) บกพร่องในการตรวจเช็คหรือควบคุมไม่ให้กองเชียร์หรือบุคคลใด นำขวดน้ำ  พลุ ประทัดดอกไม้ไฟ หรือวัสดุที่สามารถนำไปใช้ในการทำร้ายกันได้ เข้าไปในสถานที่จัดการ แข่งขัน หรืออัฒจันทร์ จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 30,000 บาท ถึง 50,000 บาท

ข่าวสารอื่นๆ

National Team Men

02 May 2025

เอเอฟซี เลือก ไทย เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขัน AFC U-23 Asian Cup qualification 2026 ในช่วงเดือนกันยายน

เอเอฟซี เลือก ไทย เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขัน AFC U-23 Asian Cup qualification 2026 ในช่วงเดือนกันยายน

Competitions

02 May 2025

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ลงนาม MOU ร่วมกับ การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ผู้สนับสนุนหลักการแข่งขัน MEA ฟุตซอลไทยลีก 2025 พร้อมเปิดตัว "ทรูวิชั่นส์" ผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดรายใหม่ ฤดูกาลนี้

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ลงนาม MOU ร่วมกับ การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ผู้สนับสนุนหลักการแข่งขัน MEA ฟุตซอลไทยลีก 2025 พร้อมเปิดตัว "ทรูวิชั่นส์" ผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดรายใหม่ ฤดูกาลนี้

Development

02 May 2025

ฝ่ายพัฒนาผู้ตัดสินฯ จัดอบรม ผู้ตัดสินฟุตซอล เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับฤดูกาล 2025/26

ฝ่ายพัฒนาผู้ตัดสินฯ จัดอบรม ผู้ตัดสินฟุตซอล เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับฤดูกาล 2025/26