29 April 2025
13 ชั่วโมงที่ผ่านมา
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ครั้งที่ 36 ประจำฤดูกาล 2567/68
เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท จัดประชุม ครั้งที่ 36 ประจำฤดูกาล 2567/68 โดยมี นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ เป็นประธาน
พิจารณาเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน
1. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการ ไทยแลนด์ เซมิโปร ลีก (TS) วันที่ 19 เมษายน 2568 คู่ระหว่างสโมสร กรินทร์ ยูไนเต็ด พบ สโมสร เอฟซี เขากำแพง (เรื่องจากคณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท)
- นาทีที่ 90+2 สโมสร กรินทร์ ยูไนเต็ด เปลี่ยนตัวผู้เล่นหมายเลข 27 นายนนท์ปกรณ์ พรสุวรรณกิตต์ ลงเล่นแทน ผู้เล่นหมายเลข 10 นายศิรณัฏฐ์ ศรีวลักษณ์ จนหมดเวลาการแข่งขัน (จบการแข่งขันในนาทีที่ 90+5) และผู้เล่นคนดังกล่าวได้รับการคาดโทษ(ใบเหลือง) ในนาทีที่ 90+4 จากเหตุการณ์เข้าแย่งชิงบอลจากคู่แข่งขันและประพฤติตนอย่างไม่มีน้ำใจนักกีฬา (Reckless) ซึ่งผู้เล่นคนดังกล่าวไม่ได้มีรายชื่อเป็นผู้เล่นตัวจริงและตัวสำรอง ตามรายชื่อที่ยื่นไว้ก่อนการแข่งขัน สโมสร กรินทร์ ยูไนเต็ด นำนักกีฬาฟุตบอลที่ไม่มีสิทธิลงทำการแข่งขันในนัดนั้นลงสนามแข่งขัน โดยไม่ได้มีการตรวจสอบจากทีมงานผู้ตัดสิน คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท จึงขอให้คณะกรรมการประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตัดสินฯ พิจารณาการปฏิบัติหน้าที่ของทีมงานผู้ตัดสิน ว่ามีความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ อย่างไร และกรณีการคาดโทษ (ใบเหลือง) ผู้เล่นหมายเลข 27 นายนนท์ปกรณ์ พรสุวรรณกิตต์ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้เล่นคนดังกล่าวเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิลงทำการแข่งขัน โปรดพิจารณาว่า การคาดโทษ (ใบเหลือง) ดังกล่าวควรบันทึกเป็นข้อมูลสะสมใบเหลือง หรือควรยกเลิกและถือเป็นโมฆะ
- ผลพิจารณาโทษ
1) ลงโทษนายวีระพงษ์ ไชยสุข ผู้ตัดสินที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษข้อ 57 (3) พักการปฏิบัติหน้าที่ 1 เดือน เนื่องจากเปลี่ยนตัวเอาผู้เล่นไม่มีคุณสมบัติลงเล่น
2) ลงโทษนายอลงกรณ์ ฝีมือช่าง ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 2 สัปดาห์ เนื่องจากไม่ตรวจสอบกับผู้ตัดสินที่ 4 กรณีเปลี่ยนตัวเอาผู้เล่นไม่มีคุณสมบัติลงเล่น
3) ลงโทษนายคุณาธร เกตุจันทรา ผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 2 สัปดาห์ เนื่องจากไม่ตรวจสอบกับผู้ตัดสินที่ 4 กรณีเปลี่ยนตัวเอาผู้เล่นไม่มีคุณสมบัติลงเล่น
4) ลงโทษนายญาณิน นันทคำภิรา ผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 2 สัปดาห์ เนื่องจากไม่ตรวจสอบกับผู้ตัดสินที่ 4 กรณีเปลี่ยนตัวเอาผู้เล่นไม่มีคุณสมบัติลงเล่น
5) สำหรับกรณีการคาดโทษ (ใบเหลือง) ผู้เล่นหมายเลข 27 นายนนท์ปกรณ์ พรสุวรรณกิตต์ สโมสรกรินทร์ ยูไนเต็ด คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท พิจารณาอาศัยความตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษวินัย มารยาท ข้อ 4. บททั่วไป ประกอบกับกติกาข้อ 12 Fouls and Misconduct หัวข้อย่อย 3 Disciplinary action ที่ระบุไว้ว่า “Only a player, substitute, substituted player or team official may be shown the red or yellow card.” จึงมีมติให้เพิกถอนใบเหลืองตามกติกาที่กำหนดไว้
2. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการไทยลีก 3 วันที่ 19 เมษายน 2568 คู่ระหว่างสโมสร สมุทรสาคร ซิตี้ พบ สโมสร ปัตตานี เอฟซี (สโมสรปัตตานี เอฟซี ร้องเรียนมา 3 เหตุการณ์)
- เหตุการณ์ที่ 1
ในนาทีที่ 44 ก่อนยิงฟรีคิกผู้เล่นสโมสร สมุทรสาคร ซิตี้ ยืนในตำแหน่งล้ำหน้าใกล้ประตูมากกว่ากองหลังคนสุดท้ายและลูกบอล จังหวะที่ผู้เล่นหมายเลข 23 นายเจษฎากร ขาวงาม สโมสร สมุทรสาคร ซิตี้ ยิงฟรีคิก ผู้เล่นที่อยู่ล้ำหน้าเริ่มเคลื่อนที่เข้าไป “กดดัน” แนวรับของสโมสร ปัตตานี เอฟซี และอยู่ในระยะกระชั้นชิดผู้รักษาประตู นายประตูปัดบอล ผู้เล่นสีเหลืองที่ล้ำหน้า ขยับมากดดันกองหลัง กองหลังเตะพลาดเข้าประตูตัวเอง (Own goal) แม้ผู้เล่นในตำแหน่งล้ำหน้า ไม่ได้สัมผัสบอลเอง แต่หากเขา “มีผลต่อการเล่น” เช่น กดดันคู่แข่ง, บังการมองเห็นของผู้รักษาประตู, หรือ ทำให้คู่แข่งเล่นผิดพลาด เพราะผู้เล่นในตำแหน่งล้ำหน้า มีผลโดยตรงต่อกองหลังฝ่ายตรงข้าม จนเกิดประตู
- ผลพิจารณาโทษ
ยกคำร้อง เนื่องจากคลิปภาพเหตุการณ์มุมกล้องไม่อยู่ในตำแหน่งที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้เล่นอยู่ในตำแหน่งล้ำหน้าหรือไม่หากพิจารณาชี้ชัดไปทางใดทางหนึ่งอาจเกิดความไม่เป็นธรรมได้
- เหตุการณ์ที่ 2
ในนาทีที่ 53 สโมสร ปัตตานี เอฟซี ได้โอกาสบุกจากทางขวาเปิดเข้าไปในเขตโทษ ก่อนที่ผู้เล่นหมายเลข 3 นายรุ่งศักดิ์ คชรักษ์ สโมสร สมุทรสาคร ซิตี้ กระแทกผู้เล่นหมายเลข 90 นายอิมรอน หะยียูโซะ สโมสร ปัตตานี เอฟซี ทำลายจังหวะการเข้าทำประตู ทำให้ทีมพลาดการได้ประตู และเป็นเหตุการณ์ที่ต้องเป็น “จุดโทษ” เท่านั้น เพราะผู้ตัดสินอยู่ในจุดที่สามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจน
- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษนายกิตติวัฒน์ กิตติภัคสกุล ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 6 สัปดาห์ เนื่องจากผู้เล่นหมายเลข 3 นายรุ่งศักดิ์ คชรักษ์ สโมสร สมุทรสาคร ซิตี้ เจตนาชนผู้เล่นหมายเลข 90 นายอิมรอน หะยียูโซะ สโมสร ปัตตานี เอฟซี จากด้านข้างจนล้มลงในเขตโทษตนเอง ถือเป็นการกระทำผิดตามกติกาข้อ 12 Fouls and Misconduct หน้า 105 ที่ต้องให้เตะโทษโดยตรง ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นในเขตโทษต้องให้เตะโทษ ณ จุดโทษ แต่ผู้ตัดสินไม่มีการเป่าฟาวล์ถือว่าตัดสินไม่ถูกต้อง
- เหตุการณ์ที่ 3
ในนาทีที่ 54 ซึ่งต่อเนื่องจากเหตุการณ์ที่ 2 ผู้เล่นสโมสร สมุทรสาคร ซิตี้ ได้บอลในเขตก่อนจะพลิกเข้าไป ผู้เล่นสโมสร ปัตตานี เอฟซี ดักได้จากเท้าถึงบอลก่อนผู้เล่นหมายเลข 65 นายวรายุทธ กล่อมนาค สโมสร สมุทรสาคร ซิตี้ แต่จังหวะนี้ ผู้เล่นสโมสร สมุทรสาคร ซิตี้ ได้ล้มลงทำให้กรรมการเป่าเป็นจุดโทษ ทั้งที่ไม่ “สมควรที่จะเป็นจุดโทษ” และผู้ตัดสินอยู่ในบริเวณที่สามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจน ทำให้สโมสร ปัตตานี เอฟซี เสียประโยชน์ในนัดนี้
- ผลพิจารณาโทษ
พฤติกรรมของผู้เล่นหมายเลข 20 นายภาณุพันธ์ จันทร์แก้ว สโมสร ปัตตานี เอฟซี ได้เข้ามาชนขัดขาผู้เล่นหมายเลข 65 นายวรายุทธ กล่อมนาค สโมสร สมุทรสาคร ซิตี้ จากด้านหลังจนล้มลงในเขตโทษตนเอง ถือเป็นการกระทำผิดตามกติกาข้อ 12 Fouls and Misconduct หน้า 105 ที่ต้องให้เตะโทษโดยตรง ซึ่งผู้ตัดสินเป่าให้เตะโทษ ณ จุดโทษ ถือว่าตัดสินถูกต้อง
พิจารณาเหตุการณ์ไม่ปกติของการแข่งขันกีฬาฟุตบอล
3. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการ เมืองไทย ลีก (ไทยลีก 2) วันที่ 26 เมษายน 2568 คู่ระหว่างสโมสร อยุธยา ยูไนเต็ด พบ สโมสร บางกอก เอฟซี
- เหตุการณ์
หลังผู้ตัดสินเป่าสิ้นสุดเวลาการแข่งขันไปแล้วประมาณ 20 นาที ในขณะนั้นผู้เล่นและเจ้าหน้าที่ของทั้งสองสโมสร ยังคงอยู่ภายในสนามเพื่อเดินขอบคุณแฟนบอลของทีมตนเอง และผู้ชมทั่วไปก็เริ่มทยอยเดินลงจากอัฒจันทร์ ผู้ควบคุมการแข่งขันพบว่า ได้มีกลุ่มกองเชียร์ของสโมสรอยุธยา ยูไนเต็ด ที่นั่งอยู่บนอัฒจันทร์ฝั่งคบเพลิงบริเวณโซน E2 ได้จุดพลุไฟสีแดงขึ้นสองถึงสามดวง และอีกประมาณ 1 นาทีต่อมา กองเชียร์สโมสร อยุธยา ยูไนเต็ด อีกกลุ่มหนึ่งที่นั่งอยู่บนอัฒจันทร์ฝั่งเดียวกันบริเวณโซน E1 ก็ได้จุดพลุไฟขึ้นตามมาอีกหลายดวง ทั้งสองกลุ่มชูพลุขึ้นจนหมดเชื้อปะทุ พลุจึงได้ดับลง ซึ่งก่อนหน้านั้น กองเชียร์บริเวณโซน E2 ก็ได้พยายามจุดพลุไฟขึ้นแล้ว แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้เห็นก่อน จึงเข้าไปห้ามและดับลงได้ และโฆษกได้ประกาศเตือนกองเชียร์ไปแล้วหลังจากสิ้นสุดเวลาการแข่งขัน สาเหตุในการจุดเนื่องจากเฉลิมฉลองที่สโมสรอยุธยา ยูไนเต็ด เลื่อนชั้นได้ไปเล่นในรายการไทยลีกฤดูกาลหน้า
- ผลพิจารณาโทษ
1) ลงโทษกองเชียร์สโมสร อยุธยา ยูไนเต็ด จุดพลุบนอัฒจันทร์ เป็นกระทำที่ไม่เหมาะสมในสถานที่จัดการแข่งขัน มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 4.3 ปรับเงิน 60,000 บาท แต่เนื่องจากเป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 2 จึงลงโทษปรับสองในสาม ปรับเงิน 40,000 บาท
2) ลงโทษสโมสร อยุธยา ยูไนเต็ด บกพร่องในการตรวจเช็คหรือควบคุมไม่ให้กองเชียร์นำพลุ ประทัดดอกไม้ไฟ เข้าไปในสถานที่จัดการแข่งขัน หรืออัฒจันทร์ มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 5.3.18 (1) ปรับเงิน 30,000 บาท แต่เนื่องจากเป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 2 จึงลงโทษปรับสองในสาม ปรับเงิน 20,000 บาท
- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
ข้อ 4.3 ใช้วัสดุอุปกรณ์ใด ๆ ที่ก่อให้เกิดการรบกวนการทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน หรือนักกีฬาฟุตบอลระหว่างการแข่งขัน เช่น การเป่านกหวีด หรือการใช้แตร หรือการใช้แตรไฟฟ้า หรือฉายแสงเลเซอร์ เป็นต้น หรือกระทำการใด ๆ ที่ไม่เหมาะสมในสถานที่จัดการแข่งขัน ได้แก่ การจุดพลุ หรือจุดประทัด หรือจุดไฟเย็น หรือจุดวัตถุอื่นจนเกิดเป็นควัน หรือจุดพลุบริเวณที่ว่างด้านหลังของอัฒจันทร์ ทั้งก่อน หรือระหว่าง หรือหลังจากการแข่งขันจบลงแล้ว จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 30,000 บาท ถึง 60,000 บาท
ข้อ 5.3.18 ความบกพร่องด้านการรักษาความปลอดภัยในวันแข่งขัน
(1) บกพร่องในการตรวจเช็คหรือควบคุมไม่ให้กองเชียร์หรือบุคคลใด นำขวดน้ำ พลุ ประทัดดอกไม้ไฟ หรือวัสดุที่สามารถนำไปใช้ในการทำร้ายกันได้ เข้าไปในสถานที่จัดการแข่งขัน หรืออัฒจันทร์ จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 30,000 บาท ถึง 50,000 บาท
4. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการ ไทยแลนด์ เซมิโปร ลีก (TS) วันที่ 27 เมษายน 2568 คู่ระหว่างสโมสร มหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น พบ สโมสร กาฬสินธุ์ ยูไนเต็ด
- เหตุการณ์
รถพยาบาลมาปฏิบัติหน้าที่ 1 คัน ได้สอบถามนายธราดล แสงสุข ผู้จัดการทั่วไป สโมสร มหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น แจ้งว่า วันนี้จังหวัดอุบลราชธานีมีการแข่งขันกีฬาฟุตบอลหลายสนาม ทำให้รถพยาบาลไม่เพียงพอ จึงใช้รถปิกอัพของมหาวิทยาลัยฯ มาจอดสแตนบายไว้กับรถพยาบาล ซึ่งทุกครั้งก็ทำแบบนี้
- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษสโมสรมหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น ไม่จัดรถพยาบาล ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับ มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 5.3.12 วรรคสอง ปรับเงิน 40,000 บาท แต่เนื่องจากเป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยแลนด์ เซมิโปร ลีก จึงลงโทษปรับหนึ่งในสี่ ปรับเงิน 10,000 บาท
- ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
ข้อ 5.3.12 ต้องจัดรถพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ พร้อมกับอุปกรณ์ช่วยชีวิต เพื่อรองรับการเจ็บป่วยฉุกเฉินของนักกีฬาฟุตบอลหรือผู้ชม จำนวน 2 คัน หรือตามจำนวนที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการจัดการแข่งขันรายการนั้น ก่อนเริ่มเวลาการแข่งขันไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง 30 นาที มิฉะนั้นจะถูกปรับ
ครั้งแรก 20,000 บาท
ครั้งต่อไปครั้งละ 30,000 บาท
กรณีที่รถพยาบาลมาไม่ทันตามกำหนดระยะเวลาข้างต้น และได้ล่วงเลยระยะเวลาเริ่มการแข่งขันไป ให้เป็นดุลพินิจของผู้ควบคุมการแข่งขันที่จะเลื่อนระยะเวลาเริ่มต้นการแข่งขันออกไปได้ครั้งละ 30 นาที แต่ไม่เกิน 2 ครั้ง ต้องถูกปรับเงิน 40,000 บาท หากมีการกระทำความผิดซ้ำอีก ในการแข่งขันนัดอื่นให้เพิ่มโทษปรับเงินเป็นสองเท่า
Competitions
29 April 2025
FIFA Elite! ประกาศ รายชื่อผู้ตัดสิน จากเกาหลีใต้ ทำหน้าที่ 2 คู่ ตัดสินแชมป์รีโว่ ไทยลีก 2024/25
National Team Women's
29 April 2025
เอเอฟซี จับสลาก 2026 AFC U-20 Women's Asian Cup qualification หา 11 ชาติผ่านเข้ารอบสุดท้าย ที่ประเทศไทย
Youth and Grassroots Football
28 April 2025
78 เยาวชน ภาคใต้ เข้าร่วมโครงการค้นป่าหาช้างเผือก FIFA Talent ID 2025 เลกสอง