10 October 2023

1 ปีที่ผ่านมา

การสอนวิชาอะไรก็ตาม หลักใหญ่ใจความแบ่งออกเป็น 2 ประการ คือ “องค์ความรู้” ที่ถูกประมวล วิเคราะห์ คัดแยก เรียบเรียงออกมาอย่างถูกต้อง ชัดเจน มีจุดประสงค์การเรียนรู้ครบถ้วน สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้ และอย่างที่ 2 คือ “ผู้สอน” ที่ถูกฝึกปรือมาทั้งความแม่นยำต่อองค์ความรู้ที่สอน ความเข้าใจถึงเป้าหมายของจุดประสงค์ที่สอน การมองเห็นภาพความสำเร็จเป็นภาพเดียวกัน วิธีการถ่ายทอดที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจอย่างถ่องแท้ รวมไปถึงจิตวิทยาในการดูแลเด็กที่สอนตามช่วงวัย เพศ และประการสำคัญคือการปกป้องดูแล รักษาสิทธิสวัสดิภาพ เคารพในความเป็นมนุษย์ มีจริยธรรมของการเป็นผู้สอนที่ดีอีกด้วย

“วิชากีฬาฟุตบอล” ก็ไม่ได้แตกต่างจากการเรียนรู้วิชาอื่นๆ...ที่มี...

“โค้ช” เป็นครู 

“นักเตะ” เป็นนักเรียน สนามซ้อม ห้องยิม เก้าอี้สำรอง เก้าอี้ตัวจริง สนามเตะจริง เป็นห้องเรียน

สำหรับ นักเตะที่ฉายแววตั้งแต่อายุแค่ 5 - 6 ขวบ เขาหรือเธอจะใช้ชีวิตอยู่ในห้องเรียนวิชาฟุตบอลไปอีกเกือบครึ่งชีวิตหากต้องการเดินบนสนามนี้อย่างนักเตะอาชีพ ดังนั้นพื้นฐานที่สุดคือการ “สร้างคน” จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ทั้งคนสอน...และคนเรียน

แต่ก่อนไปถึงขั้นนั้น เราต้องสร้าง “ครู” หรือที่ในวงการฟุตบอลเรียกกันว่า “โค้ช” เป็นอันดับแรก เพราะถ้าประเทศไทยต้องการนักเตะที่เก่ง สิ่งที่ต้องทำคือต้องฝึกและผลิตโค้ชที่ดีออกมาก่อน!!!

“Coaching Education” จึงถูกวางให้เป็นเสาหลักเสาแรกของโครงสร้างในโครงการ “Grow Together” ซึ่งเป็นโครงการที่ พล.ต.อ. ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ซึ่งพยายาม “ตั้งไข่” วงการฟุตบอลไทยด้วยการ “สร้างฐานข้อมูล” ที่ได้มาตรฐานของทั้งนักเตะ โค้ช เอาไว้อย่างละเอียด แต่คิดว่าหากจะพัฒนาให้ยั่งยืนและ “ไปให้สุด หยุดที่ระดับโลก” ก็ได้ตริตรองว่าจำเป็นต้องมี “คู่มือ” ที่สร้างทุกมิติที่จำเป็นต่อการพัฒนาฟุตบอลไปแบบพร้อมๆ กัน อย่างมีประสิทธิภาพ 

พล.ต.อ. ดร.สมยศ จึงตัดสินใจบินไปปรึกษา FIFA ด้วยตนเอง เพื่อหาแนวคิดและวิธีที่จะพัฒนาบอลไทยเพื่อให้ไปไกลได้ถึงบอลโลกแบบของจริงและจับต้องได้ และไม่ใช่การขายฝันไปเรื่อย เขาต้องการหลักสูตรที่ลงมือทำและได้ผล จนในที่สุด FIFA ตัดสินใจมอบ Curriculum หรือ “หลักสูตร” การสร้างระบบนิเวศ หรือ Ecosystem ของฟุตบอล ที่ FIFA โดย อาร์แซน แวงแกร์ ประธานพัฒนาเทคนิคของ FIFA และอดีตผู้จัดการทีมอาร์เซนอล ออกแบบและพัฒนาจนได้มาตรฐาน  ซึ่งประเทศไทยเป็น “ประเทศแรก” ที่ FIFA มอบระบบนี้มาให้วางรากฐาน และที่พิเศษยิ่งกว่านั้นคือ ได้มอบหมายให้ บุคคลสำคัญคนหนึ่งแห่งโลกลูกหนังอย่าง “การ์เลส โรมาโกซา” นักบริหารเทคนิคฟุตบอลชาวสเปนผู้มากประสบการณ์ เคยทำงานร่วมกับสโมสรบาร์เซโลนา และปารีส แซงต์ แชร์กแมง รวมถึงสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นและฟินแลนด์ เป็นตัวแทน FIFA ให้นำคู่มือดังกล่าว ลัดฟ้ามาช่วยวางระบบและปรับแต่งให้เหมาะกับบริบทของสังคมไทย

การที่ “Coaching Education” เป็นเสาหลักเสาแรกของโครงการ “Grow Together” เพราะโครงการฯ เล็งเห็นว่าทรัพยากรที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นต้นธารของความสำเร็จทั้งปวงของระบบนิเวศฟุตบอลไทยคือ “คน” สิ่งที่เร่งด่วนที่สุดคือต้องเร่งสร้าง “บุคลากรคุณภาพ” เสียก่อน โดย “คนต้นทาง” จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “โค้ช” หรือ “ผู้ฝึกสอน” เพื่อการศึกษาของโค้ชไว้แบบละเอียด ลงลึกที่สุด เพื่อสร้างรากฐานให้แกร่งที่สุด โดยหวังผลเพื่อการสร้างโค้ชไทยให้ไปได้ถึงระดับมาตรฐานโลก มีขีดความสามารถไม่แพ้โค้ชจากลีกดังๆ ทั่วโลก 

“Coaching Education” หรือหลักสูตรการสร้างโค้ชของโครงการ “Grow Together” ออกแบบวิธีการฝึกอบรมที่เน้นความสำคัญด้านคุณภาพเป็นหลัก แตกต่างจากหลักสูตรอื่นๆ พิเศษและครอบคลุมมากกว่าเดิม สามารถต่อยอด ปรับเปลี่ยนตามโลกที่หมุนเร็วขึ้น มีเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ รวมถึงแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ต่างๆ ที่ถูกใช้ในการสอน การแข่ง การฝึกฝนนักเตะ เหล่านี้หลักสูตรจะอัพเดทเพื่อให้โค้ชที่จบหลักสูตรนี้ออกไปเป็นโค้ชที่เก่ง สามารถปรับตัวตามโลกทันในทุกวินาทีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงและเปิดรับ พร้อมเรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยถูกออกแบบมาให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผู้ที่เข้ามาเรียนเพื่อจะสำเร็จออกไปเป็นโค้ช จะได้รับจะต้องเข้าเรียน เข้าอบรมตามหลักสูตร มีทั้งการเรียนออนไลน์ และการปฏิบัติจริง ควบคู่ไปกับการสร้างเสริมลักษณะนิสัยเชิงสังคมระหว่างผู้เรียนเป็นโค้ชด้วยกัน กิจกรรมภายในสโมสร และการฝึกประสบการณ์ทำงาน มีการทำกิจกรรมร่วมคอร์สที่สร้างขึ้นมาเพื่อสะท้อนประสบการณ์จริงที่จะต้องเจอในฐานโค้ช 

นอกจากการสอนและฝึกปฏิบัติจริงแล้ว “Coaching Education” ยังทำคู่ขนานไปกับการสร้างและต่อยอด สร้างฐานข้อมูล (Database) ของผู้ฝึกสอนทุกระดับจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย, มีโครงการพิเศษ สำหรับฟุตบอลหญิง Women Scholarships, มีการอบรมวิทยากรประจำภูมิภาค Regional Coach Educator (REC) รวมทั้งสำหรับโค้ชที่มีใบอนุญาตอยู่แล้ว และในอนาคตอันใกล้ ใบอนุญาตจะถูกรีเซ็ตใหม่ ทางโครงการได้มีการจัดอบรมวิทยากร เพื่อสอนหลักสูตรเพิ่มเติม (ต่อใบอนุญาต) Coach Educator Education (FEC) อีกด้วย เรียกได้ว่าครบทุกอย่างที่ “มนุษย์โค้ช” ต้องการเลยทีเดียว

“Coaching Education” ยังสร้างประสบการณ์จริง “แบบนักเตะ” โดยให้ผู้ที่ฝึกเป็นโค้ชลงสนามเตะจริง เตะเสมือนเป็นนักเตะในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ตรงที่สุด ฝึกให้ถึงระดับการสร้างแนวคิดว่า ณ สถานการณ์จริงตรงหน้า หากรูปเกมเป็นแบบนี้ ในฐานะโค้ช จะแก้เกมหรือจะดำเนินเกมต่อไปอย่างไร จะวางแผนและสอนเด็กอย่างไร 

 

“Coaching Education” แบ่งหลักสูตรการสอนบุคลากรโค้ช โดยยึดจาก “อายุ” ของ “นักฟุตบอล” เป็นหลัก ความยากง่ายของช่วงอายุจะแตกต่างกันออกไปด้วยวัยและประสบการณ์ของนักฟุตบอล โดยแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ 

1.พื้นฐาน (Grassroots) ตั้งแต่อายุ 6 – 12 ปี การสอนเด็กระดับช่วงอายุรุ่นเล็กจนย่างเข้าวัยรุ่นตอนต้น โค้ชต้องเข้าใจจิตวิทยาเด็ก ที่มีช่วงโฟกัสที่จำกัด เบื่อง่าย ต้องสอนโดยให้เด็กเข้าถึงความสนุกของฟุตบอลเป็นหลัก รวมถึงปลูกฝังสปิริต น้ำใจนักกีฬา แก่นแท้ของการเล่นกีฬา การรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ควบคู่ไปกับกติกา และเทคนิคการเล่นที่เหมาะสมกับเด็กในช่วงวัยดังกล่าว

2.เยาวชนขั้นพื้นฐาน (Basic Youth) ตั้งแต่อายุ 13 – 18 ปี ถือว่าเข้าวัยรุ่นแล้ว พูดกันรู้เรื่อง มีสมาธิดีขึ้นกว่าช่วงพื้นฐาน ฝึกเทคนิคได้นานกว่าเดิม วัยนี้หัดเรื่องวินัยในการฝึกซ้อมได้ดีกว่าเดิม สรีระร่างกายเปลี่ยนไปเร็วจากเด็กกลายเป็นหนุ่มสาว มีพละกำลังมากขึ้น มีชั่วโมงการฝึกที่ยาวขึ้น

3.เยาวชน และสมัครเล่น (Youth & Amateur) รุ่นนี้จะเป็นช่วงอายุเดียวกับ “เยาวชนขั้นพื้นฐาน” คือตั้งแต่อายุ 13 – 18 ปี แต่จะเป็นการสอนเยาวชนที่มีพื้นฐานฟุตบอล ได้รับการสอนมาตั้งแต่ระดับ Grassroots รู้กติกา รู้วิธีเล่นเป็นทีม มีประสบการณ์แข่งขันมาแล้วระดับหนึ่ง ตัวผู้สอนก็จะต้องมีวิธีและเทคนิคการสอนรวมถึงการถ่ายทอดทักษะที่แตกต่างกับกลุ่มเยาวชนระดับ Basic

4.เยาวชนขั้นสูง และกึ่งอาชีพ (Youth Elite & Semi-Pro) รุ่นอายุ 19 ปี ขึ้นไป การสอนเยาวชนกลุ่มนี้ คือกลุ่มที่มุ่งหวังจะเป็นนักเตะอาชีพ ค้าแข้งกับสโมสรทั้งในและต่างประเทศ มีฝีเท้าดี มีทักษะระดับกึ่งมืออาชีพ โค้ชก็จำเป็นจะต้องเก่งให้มากกว่านักเตะ เพื่อจะทำให้นักเตะเป็นนักเตะรุ่นโปรต่อไป

5.ฟุตบอลระดับอาชีพ (Professional) สอนนักฟุตบอลอาชีพ ซึ่งรุ่นนี้นักฟุตบอลได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ ฝีเท้า วินัย ความรับผิดชอบ ดังนั้นการสอนของโค้ชที่ต้องสอน “ผู้ใหญ่ด้วยกัน” เป็นเรื่องที่ต่างจากการสอนเด็ก เยาวชน หรือวัยรุ่นมาก ซึ่งโค้ชเองก็ต้องมีทั้งฝีมือ เทคนิค ทักษะ และวิธีการตลอดจนถึงทักษะการสอนสำหรับผู้เล่นระดับโปรด้วย

หลังจากเรียน อบรม ปฏิบัติจริง จบครบตลอดหลักสูตรแล้ว ผู้เรียนเพื่อเป็นโค้ชจะต้องสอบ License หรือ “ใบอนุญาต” เพื่อให้เป็น “โค้ช” เต็มตัว ต้องสอบให้ผ่านมาตรฐานทุกข้อตามที่โครงการกำหนด เมื่อสอบผ่านเรียบร้อย ถือว่าเป็น “โค้ชมาตรฐาน AFC โดยใบอนุญาตนี้เทียบเท่ามาตรฐาน AFC (Asian Football Confederation) หรือสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (ยกเว้น License ประกาศนียบัตรระดับ G สำหรับฟุตบอลพื้นฐาน หรือ Grassroots เท่านั้นจะที่เป็นมาตรฐาน FAT ของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ) การสอนเยาวชน เป็นเสมือนปริญญาการันตีความรู้ความสามารถเพื่อการสมัครเข้าทำงานในสโมสรและอคาเดมีที่ลงทะเบียนเอาไว้กับโครงการได้ เป็นโค้ชที่ผ่านการสอบ มีใบอนุญาตได้รับความเชื่อถือว่ามีขีดความสามารถการโค้ชในระดับสากล

ซึ่งการสอบ License ก็จะแบ่ง 5 กลุ่มที่กล่าวมาข้างต้น ดังนี้

- ประกาศนียบัตรระดับ G สำหรับฟุตบอลพื้นฐาน (Grassroots) สอนตั้งแต่อายุ 6 – 12 ปี

- ประกาศนียบัตรระดับ C สำหรับฟุตบอลเยาวชนขั้นพื้นฐาน (Basic Youth) สอนในช่วงอายุ 13 – 18 ปี

- ประกาศนียบัตรระดับ B สำหรับฟุตบอลเยาวชน และสมัครเล่น (Youth & Amateur) สอนในช่วงอายุ 13 – 18 ปีและนักฟุตบอลสมัครเล่น

- ประกาศนียบัตรระดับ A สำหรับฟุตบอลเยาวชนขั้นสูง และกึ่งอาชีพ (Youth Elite & Semi-Pro) สอนตั้งแต่อายุ19 ปีขึ้นไปและนักฟุตบอลสมัครเล่นขั้นสูง

- ประกาศนียบัตรระดับ PRO สำหรับฟุตบอลระดับอาชีพ (Professional) สอนนักฟุตบอลอาชีพ

ตลอดเวลาเกือบ 8 ปี สมาคมฯ ภายใต้การดูแลของพล.ต.อ. ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ได้ผลิตและจัดทำฐานข้อมูล (Database) ในมิติของจำนวนโค้ชที่สอบ License ทุกระดับผ่าน ปัจจุบันประเทศไทย มีผู้ฝึกสอนทั้งหมด  4,709 คน (จำนวนผู้ฝึกสอน ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2566) แยกเป็นระดับดังนี้

- AFC Pro License – 39 คน
- AFC A License – 155 คน
- AFC B License - 291 คน
- AFC C License – 1,247 คน
- FAT G License – 2861 คน
- AFC Goalkeeping Level 1 - 108 คน (หลักสูตรโค้ชสำหรับผู้รักษาประตูโดยเฉพาะ)
- AFC Goalkeeping Level 2 – 8 คน (หลักสูตรโค้ชสำหรับผู้รักษาประตูโดยเฉพาะ)

เป็นเรื่องน่ายินดีและภาคภูมิใจยิ่ง ว่าในรอบวาระการดำรงตำแหน่ง 2 สมัยของ พล.ต.อ. ดร.สมยศ ซึ่งมีแนวความคิดที่เปิดกว้างและพยายามขยายโอกาสให้ผู้หญิง ได้เข้ามาในทำงานในโลกที่ได้ชื่อว่าเป็น “โลกแห่งกีฬาของผู้ชาย” เพราะสถิติของ “โค้ชหญิง” ที่สอบ License ผ่านแล้ว มีดังนี้

- AFC Pro License – 1 คน
- AFC A License – 3 คน
- AFC B License - 23 คน
- AFC C License - 50 คน
- FAT G License – 103 คน
- AFC Goalkeeping Level 1 – 4 คน (หลักสูตรโค้ชสำหรับผู้รักษาประตูโดยเฉพาะ)
- AFC Goalkeeping Level 2 – 1 คน (หลักสูตรโค้ชสำหรับผู้รักษาประตูโดยเฉพาะ)

ข่าวสารอื่นๆ

Competitions

20 May 2025

OFFICIAL : แซงลีกจีน ขึ้นที่ 3 ครั้งแรก ! AFC ประกาศ สโมสรไทย ได้สิทธิ์ 2+1+1 เข้าร่วมแข่งขันรายการ ACL ฤดูกาล 2026/27

OFFICIAL : แซงลีกจีน ขึ้นที่ 3 ครั้งแรก ! AFC ประกาศ สโมสรไทย ได้สิทธิ์ 2+1+1 เข้าร่วมแข่งขันรายการ ACL ฤดูกาล 2026/27

Development

20 May 2025

ประกาศ : รายชื่อผู้ที่ ผ่านการอบรมหลักสูตร ซี ไลเซนส์ เดือน กุมภาพันธ์ - มีนาคม ประจำปี 2568

ประกาศ : รายชื่อผู้ที่ ผ่านการอบรมหลักสูตร ซี ไลเซนส์ เดือน กุมภาพันธ์ - มีนาคม ประจำปี 2568

Announcement

20 May 2025

สรุปผลการประชุมคณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ครั้งที่ 39 ประจำฤดูกาล 2567/68

สรุปผลการประชุมคณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ครั้งที่ 39 ประจำฤดูกาล 2567/68