20 November 2024
5 เดือนที่ผ่านมา
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ครั้งที่ 15
ฟุตบอลรายการ ไทยลีก 3 ประจำฤดูกาล 2567/68
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท จัดประชุม ครั้งที่ 15 ประจำฤดูกาล 2567/68 โดยมี นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ เป็นประธาน
พิจารณากรณีเหตุการณ์ไม่ปกติของการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการ ไทยลีก 3
1. วันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 คู่ระหว่างสโมสร พัทลุง เอฟซี พบ สโมสร เอฟซี ยะลา
เหตุการณ์
ในนาทีที่ 90+6 ผู้ตัดสินเพิ่มเวลาอีก 2 นาที เนื่องจากมีการปฐมพยาบาลผู้เล่นที่บาดเจ็บ ผู้เล่นสโมสร พัทลุง เอฟซี ได้วิ่งไปกับผู้เล่นสโมสร เอฟซี ยะลา ในเขต 18 หลา แล้วล้มลงทั้งคู่ ซึ่งผู้ตัดสินไม่ได้เป่าฟาล์วแต่อย่างใด ทำให้เจ้าหน้าที่สโมสร เอฟซี ยะลา และผู้เล่นทั้งตัวจริงและตัวสำรองวิ่งกรูไปหาผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 1 ตรงมุมธง เกิดเหตุชุลมุนอยู่ประมาณ 3 นาที นายซุลกิ๊ฟลี ดีสะเอะ เจ้าหน้าที่ทีม สโมสร เอฟซี ยะลา ได้วิ่งออกจากเขตเทคนิคโดยไม่ได้รับอนุญาตและได้เข้ามาคัดค้านการตัดสินพร้อมกับมีการใช้ส่วนหัวไหล่ชนกระแทกที่ส่วนอกของผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 1
ผลพิจารณา
ลงโทษ นายซุลกิ๊ฟลี ดีสะเอะ เจ้าหน้าที่ทีม สโมสร เอฟซี ยะลา เจตนาทำร้ายเจ้าหน้าที่การแข่งขัน มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 2.8 (1) ปรับเงิน 60,000 บาท และถูกพักการทำหน้าที่ 3 เดือน เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำต่อเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ให้เพิ่มโทษจากเดิมเป็น 2 เท่า จึงเพิ่มโทษปรับเงินเป็นปรับเงิน 120,000 บาท แต่เป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 3 จึงลงโทษปรับหนึ่งในสี่ ปรับเงิน 30,000 บาท และเพิ่มโทษถูกพักการทำหน้าที่เป็น 6 เดือน
ระเบียบว่าด้วยการลงโทษ
ข้อ 2.8 กรณีทำร้ายร่างกายบุคคลใด แต่ละกรณีมีโทษดังนี้
(1) ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้ถูกทำร้าย ปรับเงินตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 60,000 บาท และถูกพักการทำหน้าที่ 3 เดือน
โทษตามข้อ (1) ถึง (3) หากเป็นการกระทำต่อเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ให้เพิ่มโทษจากเดิมเป็น 2 เท่า เว้นแต่ข้อ (4) เพิ่มแต่เฉพาะค่าปรับขึ้นจากเดิมเป็น 2 เท่า เท่านั้น
พิจารณาเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน
1. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการไทยลีก 3 วันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 คู่ระหว่างสโมสร พัทลุง เอฟซี พบ สโมสร เอฟซี ยะลา (คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ส่งเรื่องให้คณะประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตัดสิน)
- เหตุการณ์
ผู้ตัดสินได้ให้ข้อมูลว่าในวันแข่งขันให้ใบแดงถูกคน แต่เขียนชื่อผู้กระทำความผิดในรายงานผิดคน จึงขอแก้ไขรายงานมาภายหลัง เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ขอแก้ไขรายชื่อการให้ใบแดงจาก นายศุกรีย์ มะอิง ผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตู เป็นผู้รักษาประตูสำรองหมายเลข 99 นายฟิรฮัน มะแซ ที่ได้รับใบแดง และปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มอีกว่ามีผู้กระทำความผิดแต่ไม่ได้รับใบแดง และไม่ได้รายงานมาในรายงานฉบับแรกคือ นายซุลกิ๊ฟลี ดีสะเอะ ใช้มือผลักผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 1 จากเหตุการณ์ดังกล่าวผู้ตัดสินมีการแก้ไขรายงานหลังจากจบการแข่งขันไปแล้ว 5 วัน เป็นการรายงานผิดพลาดที่ส่งผลกระทบต่อส่วนงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย
- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษนายวิชัย ปานนิล ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (3) พักการปฏิบัติหน้าที่ 1 เดือน เนื่องจากเขียนรายงานที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงและมีผลเสียหาย เป็นเหตุให้คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท พิจารณาลงโทษบุคคลที่ไม่ได้กระทำผิด เพราะไม่ได้รับข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง
ลงโทษนายณัฐพนธ์ คงอยู่ ผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 4 สัปดาห์ เนื่องจากมีเหตุการณ์กระทำผิดที่ต้องถูกไล่ออกในเขตพื้นที่รับผิดชอบ แต่ไม่แจ้งข้อมูลผู้กระทำผิดให้ผู้ตัดสินเขียนรายงาน
2. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการ “เมืองไทย ลีก” ไทยลีก 2 วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 คู่ระหว่างสโมสร สุพรรณบุรี เอฟซี พบ สโมสร เชียงใหม่ ยูไนเต็ด (สโมสร สุพรรณบุรี เอฟซี ร้องเรียนมา 2 เหตุการณ์)
- เหตุการณ์ที่ 1
ในนาทีที่ 48 ผู้เล่นหมายเลข 21 นายณัฐพงศ์ หามนตรี สโมสร สุพรรณบุรี เอฟซี ส่งบอลให้เพื่อนร่วมทีมในกรอบเขตโทษ ในจังหวะต่อมามีผู้เล่นของสโมสร เชียงใหม่ ยูไนเต็ด ได้เข้ามาสไลด์เพื่อสกัดลูกบอล และลูกบอลได้ไปสัมผัสโดนแขนซ้ายผู้เล่นสโมสรเชียงใหม่ ยูไนเต็ด ในกรอบเขตโทษ ซึ่งผู้ตัดสินไม่ได้เป่าให้การฟาล์วแฮนด์บอลและให้จุดโทษกับสโมสร สุพรรณบุรี เอฟซี
- ผลพิจารณาโทษ
พฤติกรรมของผู้เล่นสโมสรเชียงใหม่ ยูไนเต็ด ที่เข้ามาเพื่อที่จะพยายามสไลด์สกัดลูกบอลนั้น ซึ่งจังหวะต่อมาลูกบอลได้ถูกแขนของผู้เล่นสโมสร เชียงใหม่ ยูไนเต็ด โดยแขนอยู่ในลักษณะที่เป็นการรองรับร่างกาย (Supporting arm) ซึ่งตามกติกา ข้อ 12 หน้า 106 ไม่ทุกครั้งที่ลูกบอลบอลจะถูกแขนแล้วจะเป็นการกระทำผิดกติกาและตามคำอธิบายเพิ่มเติมของ AFC และคลิปตัวอย่างของ FIFA ที่ได้ส่งมาด้วยแล้ว ผู้ตัดสินให้การเล่นดำเนินต่อไป ถือว่านายกิติศักดิ์ พิกุลเงิน ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้อง
- เหตุการณ์ที่ 2
ในนาทีที่ 88 ผู้เล่นหมายเลข 47 นายชิษณุพงษ์ พิมพ์สังข์ สโมสร สุพรรณบุรี เอฟซี ได้ถึงบอลและแตะบอลหลบผู้รักษาประตูหมายเลข 35 นายไพโรจน์ เอี่ยมมาก สโมสร เชียงใหม่ ยูไนเต็ด ในกรอบเขตโทษ หลังจากนั้นจึงถูกผู้รักษาประตูรวบล้มลง ซึ่งผู้ตัดสินและผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ 2 ที่อยู่ใกล้เหตุการณ์กลับไม่ให้เป็นลูกฟาล์วและให้จุดโทษกับสโมสร สุพรรณบุรี เอฟซี
- ผลพิจารณาโทษ
พฤติกรรมของผู้รักษาประตูหมายเลข 35 นายไพโรจน์ เอี่ยมมาก สโมสร เชียงใหม่ ยูไนเต็ด ที่พยายามเข้ามาเล่นลูกบอลนั้น ได้เข้ามาช้ากว่าจังหวะจึงเกิดการปะทะกันกับผู้เล่นหมายเลข 47 นายชิษณุพงษ์ พิมพ์สังข์ สโมสร สุพรรณบุรี เอฟซี จนล้มลงนั้น โดยผู้รักษาประตูมีการใช้มือปัดโดนบอลเล็กน้อยทำให้ลูกบอลเปลี่ยนทิศทาง และเนื่องจากผู้เล่นทั้งสองต่างคนต่างเคลื่อนเข้าหากันทำให้เกิดการปะทะกันขึ้นในลักษณะที่เป็นปกติของการแย่งชิงฟุตบอล (Normal football contact) ไม่ได้มีการทำผิดกติกาของผู้เล่นทั้งสอง ผู้ตัดสินให้การเล่นดำเนินต่อไป ถือว่านายกิติศักดิ์ พิกุลเงิน ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้อง
3. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการไทยลีก 3 วันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 คู่ระหว่างสโมสร เอซีดีซี เอฟซี พบ สโมสร แปดริ้ว ซิตี้ (สโมสร แปดริ้ว ซิตี้ ร้องเรียนมา 2 เหตุการณ์)
- เหตุการณ์ที่ 1
ในนาทีที่ 38 จากจังหวะก่อนที่ผู้เล่นหมายเลข 24 นายศิริชัย ภูมิพัฒน์ สโมสร เอซีดีซี เอฟซี จะทำประตูได้นั้น ได้มีการใช้มือผลักและดันผู้เล่นสโมสร แปดริ้ว ซิตี้ ก่อนแล้วทำให้ผู้เล่นสโมสร แปดริ้ว ซิตี้ เสียจังหวะในการเล่น แต่ผู้ตัดสินไม่ได้เป่าให้ฟาล์วกับสโมสรแปดริ้ว ซิตี้
- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษนายฤทธิเกียรติ จิตรตระกูล ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 6 สัปดาห์ เนื่องจากในขณะที่มีการแย่งชิงลูกบอลผู้เล่นฝ่ายรุกได้ใช้มือผลักผู้เล่นฝ่ายรับ ก่อนที่จะไปเล่นลูกบอลแล้วทำประตูได้ การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำผิดตามกติกาข้อ 12 Fouls and Misconduct ที่ต้องให้เตะโทษโดยตรง แต่ผู้ตัดสินให้เล่นต่อไปจนทำให้ทีมเสียประตูถือว่าตัดสินไม่ถูกต้อง
- เหตุการณ์ที่ 2
ในนาทีที่ 89 จากจังหวะที่สโมสร แปดริ้ว ซิตี้ ได้ลูกเตะมุมเข้ามานั้น ผู้เล่นสโมสร แปดริ้ว ซิตี้ ถูกสโมสร เอซีดีซี เอฟซี ชนปะทะจนล้มลง ผู้ตัดสินได้มีการเป่าและให้สัญญานมือว่าเป็นลูกจุดโทษ หลังจากนั้นมีการชุลมุนกันเกิดขึ้น ผู้ตัดสินจึงได้มีการหารือกับทีมงานผู้ตัดสินอีกครั้ง ก่อนที่ตัดสินใหม่ให้เป็นลูกเตะมุมของสโมสร แปดริ้ว ซิตี้ แทน
- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษนายฤทธิเกียรติ จิตรตระกูล ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 6 สัปดาห์ เนื่องจากขณะมีการแย่งชิงลูกบอลที่ลอยอยู่ในอากาศ ผู้เล่นฝ่ายรุกได้ถูกผู้เล่นฝ่ายรับ ขัดขาจนล้มลงในเขตโทษ ผู้ตัดสินเป่าให้มีการเตะโทษ ณ จุดโทษ หลังจากนั้นมีการประท้วงของผู้เล่นและได้กลับคำตัดสินให้เป็นการเตะจากมุม เนื่องจากเห็นว่าไม่มีการกระทำผิดกา ซึ่งการกลับคำตัดสินของผู้ตัดสินนั้นไม่ถูกต้อง การตัดสินเดิมนั้นถูกต้องแล้ว
4. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการไทยลีก 3 วันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 คู่ระหว่างสโมสร ทหารอากาศ เอฟซี พบ สโมสร พราม แบงค็อก (สโมสร พราม แบงค็อก ร้องเรียนมา 2 เหตุการณ์)
- เหตุการณ์ที่ 1
ในนาทีที่ 16 ผู้เล่นหมายเลข 10 Mr. EMMANUEL KWAME AKADOM สโมสรทหารอากาศ เอฟซี ได้ทำฟาล์วใส่ผู้เล่นหมายเลข 3 นายสุมนะ สลับเพชร สโมสร พราม แบงค็อก โดยมีจังหวะต่อเนื่องที่ผู้เล่นหมายเลข 28 นายกนก เลิศสมจิตร สโมสร พราม แบงค็อก ได้สไลด์ที่ลูกบอลแต่มีการไปสัมผัสโดนขาผู้เล่นหมายเลข 21 นายรพีพัชร นาคเพ็ชร สโมสร ทหารอากาศ เอฟซี ล้มลงไป แต่ผู้เล่นคนดังกล่าวได้ลุกขึ้นมาผลักศีรษะของผู้เล่นหมายเลข 28 นายกนก เลิศสมจิตร สโมสร พราม แบงค็อก ทำให้มีอาการเซตามแรงที่โดนผลัก แต่ผู้ตัดสินกลับทำการคาดโทษ (ใบเหลือง) ให้ผู้เล่นทั้ง 2 คน โดยสโมสร พราม แบงค็อก มองว่าผู้เล่นหมายเลข 21 นายรพีพัชร นาคเพ็ชร สโมสร ทหารอากาศ เอฟซี ควรที่จะโดนไล่ออก (ใบแดง) จากจังหวะนี้
- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษนายสุทธิพงษ์ ทีฑะสุข ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (2) ภาคทัณฑ์ เนื่องจากไม่ได้คาดโทษใบเหลืองผู้เล่นหมายเลข 10 Mr. Emmanuel Akadom ของสโมสร ทหารอากาศ เอฟซี เข้ามาเตะสกัดในลักษณะของการเล่นแบบขาดการไตร่ตรองยั้งคิด (Reckless)
ส่วนส่วนกรณีของผู้เล่นหมายเลข 21 นายรพีพัชร นาคเพ็ชร ของสโมสร ทหารอากาศ เอฟซี หลังจากที่ถูกผู้เล่นหมายเลข 28 นายกนก เลิศสมจิตร ของสโมสร พราม แบงค็อก เข้าสกัดกั้นทำให้ได้รับบาดเจ็บจึงลุกขึ้นมาและใช้มือผลักไปที่ศีรษะของ นายกนก ลิศสมจิตร ไม่ถือเป็นการเจตนาทำร้ายเพราะความรุนแรงไม่เพียงพอและการผลักก็ไม่ได้ทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส การที่ผู้ตัดสินให้ใบเหลืองนั้นถูกต้องแล้ว
- เหตุการณ์ที่ 2
ในนาทีที่ 68 ผู้เล่นหมายเลข 17 นายแสงทอง วิเชียร สโมสร ทหารอากาศ เอฟซี ได้เลี้ยงบอลเข้าไปในกรอบเขตโทษ และถูกผู้เล่นหมายเลข 23 Mr. ALEXANDER PHILIP DOMINIC TKACZ สโมสร พราม แบงค็อก เข้ามาสัมผัสโดนตัวเล็กน้อยจากด้านหลัง แต่ผู้ตัดสินกลับเป่าให้ฟาล์วและให้เป็นลูกจุดโทษกับสโมสรทหารอากาศ เอฟซี
- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษนายสุทธิพงษ์ ทีฑะสุข ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 2 เดือน เนื่องจากการดึงของผู้เล่นหมายเลข 23 Mr. ALEXANDER PHILIP DOMINIC TKACZ สโมสร พราม แบงค็อก นั้นเพียงเล็กน้อย ไม่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนที่ของผู้เล่นหมายเลข 17 นายแสงทอง วิเชียร ของสโมสร ทหารอากาศ เอฟซี ดังนั้นการให้เตะโทษ ณ จุดโทษนั้น ถือว่าตัดสินไม่ถูกต้อง และจากการตัดสินผิดพลาดในครั้งนี้ส่งผลให้ทีมเสียประตูและมีผลต่อการแข่งขัน
5. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการไทยลีก 3 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 คู่ระหว่างสโมสร พีที สตูล เอฟซี พบ สโมสร สงขลา เอฟซี (สโมสร สงขลา เอฟซี ร้องเรียนมา 2 เหตุการณ์)
- เหตุการณ์ที่ 1
เหตุการณ์ที่ 1 ในนาทีที่ 19 ผู้เล่นหมายเลข 8 นายโนโต้ บุญตาวัน สโมสร สงขลา เอฟซี พยายามวิ่งเข้าไปรับบอลในกรอบเขตโทษ แต่โดนผู้เล่นหมายเลข 19 นายอัคเดช สุขศิริ สโมสร พีที สตูล เอฟซี เอามือดึงและใช้ลำตัวขัดขวางการเล่น แต่ผู้ตัดสินไม่เป่าฟาล์วและให้จุดโทษกับสโมสร สงขลา เอฟซี
- ผลพิจารณาโทษ
ขณะที่มีการวิ่งเข้าไปแย่งชิงลูกบอลของผู้เล่นทั้งสองทีมในเขตโทษ โดยผู้เล่นหมายเลข 8 นายโนโต้ บุญตาวัน สโมสร สงขลา เอฟซี (ฝ่ายรุก) พยายามวิ่งเข้าไปเพื่อเล่นลูกบอลทำให้เกิดการปะทะกับผู้เล่นหมายเลข 19 นายอัคเดช สุขศิริ สโมสร พีที สตูล เอฟซี (ฝ่ายรับ) ในลักษณะที่เป็นปกติทั่วไปของการเล่น ไม่มีดึงหรือเตะขัดขาหรือการทำผิดกติกาของผู้เล่นฝ่ายรับแต่อย่างใด ถือว่านายอิสรี บือราเฮง ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้อง
- เหตุการณ์ที่ 2
เหตุการณ์ที่ 2 นาทีที่ 73 ผู้เล่นหมายเลข 8 นายโนโต้ บุญตาวัน สโมสร สงขลา เอฟซี พยายามเข้าไปเล่นบอล แต่โดนผู้เล่นหมายเลข 95 Mr. VICTOR CLEMENTE DE OLIVEIRA CAPINAN สโมสร พีที สตูล เอฟซี กระโดดเปิดปุ่มเข้าย่ำบริเวณข้อเท้าจนได้รับบาดเจ็บ แต่ผู้ตัดสินกลับทำการคาดโทษใบเหลือง โดยสโมสร สงขลา เอฟซี มองว่าควรเป็นจังหวะดังกล่าวควรเป็นใบแดง
- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษนายอิสรี บือราเฮง ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 2 สัปดาห์ เนื่องจากผู้เล่นหมายเลข 95 Mr. VICTOR CLEMENTE DE OLIVEIRA สโมสร พีที สตูล เอฟซี กระโดดสไลด์เปิดปุ่มเข้าหาและโดนที่บริเวณข้อเท้าด้วยความรุนแรง ถือเป็นความผิดตามกติกาข้อ 12 Fouls and Misconduct ที่ต้องให้เตะโทษโดยตรงและเป็นการกระทำผิดกติกาอย่างร้ายแรง (Serious foul play) ซึ่งเป็นความผิดที่ต้องถูกไล่ออก (ใบแดง) แต่ผู้ตัดสินให้ใบเหลืองถือว่าตัดสินไม่ถูกต้อง
6. การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพรายการไทยลีก 3 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 คู่ระหว่างสโมสรธนบุรี ยูไนเต็ด พบ สโมสรสมุทรสงคราม ซิตี้ (สโมสรสมุทรสงคราม ซิตี้ ร้องเรียนมา 2 เหตุการณ์)
- เหตุการณ์ที่ 1
ในนาทีที่ 90+9 จากจังหวะที่ผู้เล่นสโมสร ธนบุรี ยูไนเต็ด โยนบอลใส่มายังบริเวณหน้าประตูฝั่งสโมสรสมุทรสงคราม ซิตี้ ผู้เล่นกองหน้าสโมสร ธนบุรี ยูไนเต็ด กระโดดชนกองหลังสโมสร สมุทรสงคราม ซิตี้ ล้มลง แต่ผู้ตัดสินซึ่งอยู่ใกล้เหตุการณ์กลับเป่าให้สโมสร สมุทรสงคราม ซิตี้ เสียฟาล์ว บริเวณหน้ากรอบเขตโทษด้านซ้ายใกล้เส้น 18 หลา จากจังหวะต่อเนื่องของเหตุการณ์นี้ ทำให้สโมสร ธนบุรี ยูไนเต็ด ได้เตะฟรีคิกบริเวณหน้ากรอบเขตโทษและสามารถทำประตูได้ในจังหวะนี้
- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษนายเนติพงศ์ เอี่ยมโซ้ ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 2 เดือน เนื่องจากขณะที่มีการกระโดดเพื่อแย่งชิงลูกบอล ผู้เล่นฝ่ายรุกสโมสร ธนบุรี ยูไนเต็ด (สีแดง) ได้ชนผู้เล่นฝ่ายรับสโมสรฟุตบอล สมุทรสงคราม ซิตี้ (สีฟ้า) จนล้มลง แต่ผู้ตัดสินเห็นว่าผู้เล่นฝ่ายรับเป็นผู้ไปชนผู้เล่นฝ่ายรุก จึงเป่าฟาล์วให้ผู้เล่นฝ่ายรุก (สีแดง) ได้เตะโทษโดยตรง ถือว่าตัดสินไม่ถูกต้อง และผลจากการตัดสินที่ผิดพลาดนี้ ทำให้สโมสร สมุทรสงคราม ซิตี้ เสียประตูซึ่งมีผลต่อการแข่งขัน
- เหตุการณ์ที่ 2
หลังจากผู้ตัดสินเป่านกหวีดจบเกมการแข่งขัน นักกีฬาสโมสร สมุทรสงคราม ซิตี้ ได้เข้าไปประท้วงคัดค้านการตัดสินของผู้ตัดสิน ในจังหวะนี้ นายรุ่งโรจน์ ทองถิ่นภู หัวหน้าผู้ฝึกสอนของสโมสร สมุทรสงคราม ซิตี้ เกรงว่าจะมีเหตุการณ์บานปลาย นักกีฬาอาจควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ จึงได้รีบวิ่งลงไปในสนามเพื่อห้ามปรามนักกีฬาไม่ให้เข้าไปประท้วงผู้ตัดสิน โดยไม่มีการพูดคำหยาบคาย หรือพูดคำใด ๆ กับผู้ตัดสิน แต่ผู้ตัดสิน กลับคาดโทษด้วยใบแดงให้กับหัวหน้าผู้ฝึกสอนของสโมสร สมุทรสงคราม ซิตี้ โดยผู้ตัดสินให้เหตุผลว่าวิ่งลงมาในสนามแข่งขัน ซึ่งทางสโมสรฯ มองว่าเป็นการคาดโทษที่รุนแรงเกินไป
- ผลพิจารณาโทษ
ลงโทษนายเนติพงศ์ เอี่ยมโซ้ ผู้ตัดสิน ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแข่งขัน ตามบทลงโทษหมวดที่ 9 ลักษณะโทษ ข้อ 57 (8) พักการปฏิบัติหน้าที่ 3 สัปดาห์ เนื่องจากนายรุ่งโรจน์ ทองถิ่นภู หัวหน้าผู้ฝึกสอนของสโมสร สมุทรสงคราม ซิตี้ ได้เข้ามาในสนามโดยไม่ได้รับอนุญาตและช่วยกันผู้เล่นของทีมตนเองให้ออกจากสนาม โดยนายรุ่งโรจน์ ทองถิ่นภู ไม่ได้มีท่าทางที่เกรี้ยวกราดหรือไปคัดค้านผู้ตัดสินแต่อย่างใด การที่ผู้ตัดสินให้ใบแดงนั้น ถือว่าตัดสินไม่ถูกต้อง เพราะความผิดของการเข้าสนามโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเพียงแค่ใบเหลืองเท่านั้น
- ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันฯ
ข้อ 57. เจ้าหน้าที่การแข่งขัน ผู้ใดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับนี้ จะถูกลงโทษ ดังนี้
(1) ตักเตือน
(2) ภาคทัณฑ์
(3) พักการปฏิบัติหน้าที่ 1 เดือน
(4) พักการปฏิบัติหน้าที่ 3 เดือน
(5) พักการปฏิบัติหน้าที่ 6 เดือน
(6) พักการปฏิบัติหน้าที่ 1 ปี
(7) พักการปฏิบัติหน้าที่ 2 ปี
(8) พักการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาที่กำหนด
(9) พักการปฏิบัติหน้าที่ตลอดชีพ
การนับโทษในระหว่างฤดูกาลให้นับเฉพาะสัปดาห์ที่มีการแข่งขัน ตามปฏิทินการแข่งขันประจำฤดูกาลของสมาคมฯ
ในกรณีที่สิ้นสุดฤดูกาลแข่งขันประจำฤดูกาลแล้ว ยังมีโทษติดค้างอยู่ ให้มีผลผูกพันถึงฤดูกาลถัดไป
Competitions
08 May 2025
สมาคมฯ เปิดรับสมัครเจ้าภาพ จัดการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน คิงส์ คัพ ครั้งที่ 51 เดือน กันยายน 2568
Youth and Grassroots Football
08 May 2025
สมาคมฯ ร่วมกับฟีฟ่า เตรียมเฟ้นหาแข้งช้างเผือก Talent ID 2025 จากตะวันออก-ตก เลกสอง 10-11 พ.ค. ที่ ระยอง-สุพรรณบุรี
Youth and Grassroots Football
07 May 2025
สมาคมฯ เยี่ยมชม พร้อมแลกเปลี่ยนแนวทางพัฒนาเยาวชนกับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อคาเดมี ภายใต้โครงการ FIFA TDS Leading Academy Program